18 สิงหาคม 2553

วรรณคดีการเมือง (2)

                                วรรณคดีการเมือง (2)
                นิทานมุขปาฐะ (ต่อ)     
             ส่วนฉบับทางอีสาน  ที่แพร่หลายคือ  เซียงเมี่ยง”  อักษรธรรม ๑ ผูก วัดนามึน ต.ในเมือง อ.เมือง จ. อุบลราชธานี
       เซียงเมี่ยงเป็นนิทานเจ้าปัญญาที่มีการเล่าสืบต่อกันมาเป็นสำนวนต่างๆ แล้วแพร่กระจายไปทั่วเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เฉพาะสำนวนของภาคอีสานนั้นหลายสำนวนแต่พอสรุปเรื่องได้ว่า
       กษัตริย์องค์หนึ่งครองเมืองสียุดทิยา มเหสีประสูติพระโอรสแต่โหรทำนายว่าจะเลี้ยงยาก ต้องหาเด็กที่เกิดวันเดียวกันมาเลี้ยงด้วย จึงไปขอลูกนางคำฮางซึ่งเกิดวันเดียวกันมาเลี้ยงร่วมกัน โดยให้นางสนมเป็นคนเลี้ยง เมื่อโตขึ้นจึงถวายตัวเป็นมหาดเล็ก และมีช่วงหนึ่งได้ออกบวชแล้วก็สึกออกมารับใช้กษัตริย์ต่อไป ส่วนเนื้อเรื่องที่แสดงถึงความเป็นเจ้าปัญญาของเซียงเมี่ยงนั้น มีเป็นตอนๆ เช่น
       เซียงเมี่ยงเลี้ยงน้อง   ,    เซียงเมี่ยงเก็บหมากที่ตกอยู่   ,        เซียงเมี่ยงกินข้ออ้อยจนเกิดมีปัญญาเหนือกว่าคนอื่น  ,       ลองปัญญากับสมภาร   ,        พนันกับลาวส่งเมี่ยง   ,         เซียงเมี่ยงแต่งงาน (เลือกคู่)       ให้ยาดีแก่พระราชา ,      พระราชาแกงแร้งให้เซียงเมี่ยงกิน  ,    เซียงเมี่ยงหลอกพระยาเลียขี้แร้ง   ,    พระราชาให้นางสนมออกไข่  ,    เซียงเมี่ยงติเรือนพระราชา   ,    เซียงเมี่ยงติช้างพระยา  ,         พระราชาให้ไปหาปากง่าม   ,    เซียงเมี่ยงหลอกพระยาลงหนองน้ำ  ,   พระราชาให้ไปหาผ้าลายตีนแต้ม  ,      เซียงเมี่ยงหลอกดูก้นสมภาร  ,    พระราชาสั่งให้เซียงเมี่ยงล่วงหน้าไปก่อน   ,   พระราชาสั่งให้มาก่อนไก่  ,  เซียงเมี่ยงขอที่เท่าแมวดิ้นตาย  ,    เซียงเมี่ยงขอเงินหนึ่งบาท  ,     พระราชาสั่งให้นางสนมไปอุจจาระรดเรือนเซียงเมี่ยง  ,      เจ้าต่างเมืองมาท้าชนหัวล้าน  ,    ภรรยาบอกให้เซียงเมี่ยงหาเงิน  ,     เซียงเมี่ยงทายใจเสนา ,    เซียงเมี่ยงดมตด  ,   เซียงเมี่ยงทายว่าพระราชาจะตายภายใน ๗ วัน  ,    เซียงเมี่ยงตอบปัญหากับราชครูเมืองตานี  ,    เซียงเมี่ยงแก้มือศึกเมืองปัญจานครที่เข้ามาประชิดเมือง  ,     พระราชาให้เซียงเมี่ยงไปเก็บพริก ,   เซียงเมี่ยงให้พระราชาดมตด  ,     เซียงเมี่ยงกองก้นรับเสด็จ ,     เซียงเมี่ยงเอาเปรียบเณรน้อยในเรือ  ,   เณรน้อยแก้แค้นเซียงเมี่ยง  ,      เซียงเมี่ยงชนวัว  ,       เซียงเมี่ยงชนไก่  ,     เซียงเมี่ยงสานตะกร้าในน้ำ ,   เซียงเมี่ยงขอลูกสาวเสี่ยว ,     เซียงเมี่ยงถูกยาเบื่อตาย  ,     กระดูกเซียงเมี่ยงทำพิษแก่แม่หม้าย เป็นต้น (ยังมีอื่นๆ อีก แตกต่างกันบ้าง)”
      ในบทความเรื่อง ศรีปราชญ์อยู่ที่ไหน ศรีธนญชัยอยู่ที่นั้น (ศิลปวัฒนธรรม ธันวาคม 2541)  “สุจิตต์ วงศ์เทศ”  ให้ความเห็นไว้ดังต่อไปนี้
     “ศรีธนญชัยเป็นนิทานตลกขบขันที่ได้ชื่อมาจากตัวเอกเจ้าปัญญาแบบฉลาดแกมโกง
       นิทานเรื่องศรีธนญชัยแพร่หลายทั่วไปในดินแดนประเทศไทยและในประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคอุษาคเนย์ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันได้ว่านิทานเรื่องนี้กำเนิดที่ไหน? หรือแพร่หลายกระจายจากดินแดนแห่ง
  ใด                                             
       เมื่อเอ่ยชื่อ ศรีธนญชัยคนไทยทั่วไปจะรู้ทันทีว่าหมายถึงคนมีปฏิภาณเป็นยอด มีไหวพริบเป็นเยี่ยม แต่มากด้วยเล่ห์เหลี่ยมเป็นร้อยเล่มเกวียนจนยากที่ใครจะรู้เท่าทัน ลักษณะดังกล่าวชวนให้นึกถึงพวก ตลกหลวงที่ทำหน้าที่ถวายเรื่องราวและการกระทำที่สนุกสนามให้พระเจ้าแผ่นดินสมัยโบราณทรงมีอารมณ์สดชื่นรื่นรมย์
     ในกฎมณเฑียรบาลสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีชื่อตำแหน่งที่น่าสงสัยว่าจะเป็นตลกหลวงอยู่ด้วย ๒ ชื่อ คือ นักเทศและ ชันทีบางแห่งเขียนติดกันว่านักเทศขันทีแต่หมายถึงเจ้าหนักงาน ๒ คน
ชื่อ นักเทศชี้ชัดว่าหมายถึงชาวต่างชาติ คือไม่ใช่พวกสยามและน่าจะมีลักษณะพิเศษอยู่ด้วย คือเป็นพวกกะเทย เรื่องนี้มีร่องรอยหลายประการที่ทำให้เชื่อได้ว่าเป็นพวกที่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาซื้อมาจากอินเดียและเปอร์เซีย ส่วน ขันทีคงเป็นผู้ชายจีนที่ถูกตอนแล้ว ทั้งพวกนักเทศและขันทีล้วนเป็นผู้ชายชาวต่างชาติ คือ แขกกับ เจ๊กที่ถูกตอนหรือหรือถูกทำให้เป็นกะเทย แล้วถูกซื้อ-ขายเข้ามารับราชการอยู่ในราชสำนักกรุงศรีอยุธยา และน่าเชื่อว่าจะอยู่ใกล้ชิดกับฝ่ายใน เพราะได้รับสิทธิพิเศษ
   
น่าสงสัยว่าพวกนักเทศขันทีเหล่านี้แหละ ทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมหมายกำหนดการเข้าเฝ้าและระเบียบการต่างๆ ในราชสำนักรวมทั้งถวายเรื่องราวอันรื่นรมย์ต่อพระเจ้าแผ่นดินด้วย
   
บางทีพวกนักเทศหรือขันทีอาจจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับนิทานเรื่องศรีธนญชัยก็ได้ เพราะนิทานเรื่องนี้มีแพร่หลายทั่วไปทั้งภูมิภาคอุษาคเนย์ ซึ่งน่าจะมีเค้ามาจากต่างประเทศ
     นิทานเรื่องศรีธนญชัยสมัยแรกเป็นคำบอกเล่าปากต่อปากสืบๆ กันต่อมา ไม่รู้ว่าเริ่มจากไหนและแพร่หลายไปอย่างไรบ้าง สมัยแรกๆ นี้ยังไม่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อมามีผู้เอานิทานเรื่องศรีธนญชัยไปแต่งเป็นร้อยกรอง หรือเป็นกาพย์ กลอนแบบต่างๆ ที่นิยมตามท้องถิ่นนั้นเพื่อขับลำเล่านิทาน หรืออ่านเป็นทำนองให้ชาวบ้านฟัง....................
   
ในประเทศไทย ทางภาคกลางและภาคใต้เรียกชื่อตัวเองว่า ศรีธนญชัย ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานไม่เรียกว่าศรีธนญชัย แต่เรียกชื่อตัวเอกว่า เชียงเมี่ยง
     
นิทานเรื่องศรีธนญชัยจงใจกำหนดบุคลิกของกษัตริย์ให้เป็นตัวตลก ต้องยอมจำนนต่อสติปัญญาเล่ห์เหลี่ยมของศรีธนญชัยเสมอ ลักษณะอย่างนี้มีอยู่ในนิทานพื้นบ้านพื้นเมืองของไทยหลายเรื่อง ต่อมาก็นำไปแต่งเป็นบทละครนอก เช่น ท้าวสามลในเรื่องสังข์ทอง เป็นต้น เหตุที่
                                                   
ประเพณีพื้นบ้านพื้นเมืองกำหนดให้บุคลิกของกษัตริย์ในนิทานและในตัวละครเป็นตัวตลกอย่างนั้น ดูเหมือนจะเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดทางสังคมและวัฒนธรรมเพราะตามปกติคนทั่วไปไม่มีโอกาสอยู่ใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินและไม่มีสิทธิล่วงเกินพระเจ้าแผ่นดินได้ ต่อมาเมื่อเล่านิทานหรือดูละครเท่านั้น สามัญชนจึงจะมีโอกาสละเมิดกฎเกณฑ์อันศักดิ์สิทธิ์ได้”  (สุจิตต์ วงษ์เทศ   “ศิลปวัฒนธรรม” ปีที่ ๒๐ ฉบับที่ ๒  ธันวาคม ๒๕๔๑) 
          ส่วนเรื่อง “ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊” หรือ “กะต้ำป๋าค่ำตุ๊”  (ตุ๊ = สาธุ  หมายถึงภิกษุ) นั้น    เป็นเรื่องชวนหัวทำนองเดียวกับเซี่ยงเมี่ยง    แต่เปลี่ยนตัวละครจากเวียงเมี่ยงเป็นขะต้ำป๋า    พระราชาเจ้าเมืองเป็นพระภิกษุ
                เนื้อเรื่องมีมากมาย  แตกต่างกันไป   เช่นเรื่อง “ตุ๊เจ้าห้ามขุดจิ๊กกุ่งในวัด”
        ๐ ตุ๊เจ้าเห็นชาวบ้านมาขุดจิ๊กกุ่ง(จิ้งโกร่ง) ในวัดเอาไปกิน  จึงเขียนประกาศว่า  “ห้ามขุดจี๊กกุ่งในวัด”
          ขะต้ำป๋า จึงเอาถ่านเขียนต่อท้ายว่า  “ขุดได้นำถวาย”
          ตุ๊เจ้าอยากกินจี๊กกุ่ง  เลยเขียนต่อว่า  “หลังโบสถ์มีสองหลุม (ขุม)  อาจจะซ้อน(มีสองตัว) ๐
        ในทัศนะผู้เขียน  นิทานเหล่านี้และบทละครที่ท้าวสามลเป็นตัวตลกนั้น   เป็นวรรณกรรมเสียดเย้ยเท่านั้น   ยังไม่ใช่วรรณกรรมการเมือง
                       กาพย์พระไชยสุริยา
        วรรณคดีร้อยกรองที่มีลักษณะเสียดเย้ย    เรื่องหนึ่ง “กาพย์พระไชยสุริยา” ของสุนทรภู่ 
       กาพย์พระไชยสุริยาเป็นแบบเรียนที่สุนทรภู่แต่งขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3  ประมาณปี พ.ศ. ๒๓๘๓ - ๒๓๘๕ ขณะที่บวชเป็นพระอยู่ทีวัดเทพธิดาราม ท่านแต่งเป็นกาพย์ซึ่งแทรกความรู้เกี่ยวกับภาษาไทย ในเรื่องของมาตราตัวสะกดแม่ต่าง ๆ เช่น แม่กก กง กน กด กบ และเกย เป็นต้น    โดยเดินเรื่องเป็นนิทานมีเนื้อเรื่องว่า
            มีกษัตริย์พระองค์หนึ่งมีพระนามว่าไชยสุริยา ครองเมืองสาวัตถี มีพระมเหสีทรงพระนามว่าสุมาลี ครอบครองบ้านเมืองด้วยความผาสุก ต่อมาข้าราชการ เสนาอำมาตย์ประพฤติตนไม่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม จึงเกิดเหตุอาเพศ เกิดน้ำป่าไหลท่วมเมือง ผีป่าอาละวาด ทำให้ชาวเมืองล้มตายจำนวนมาก พระไชยสุริยากับพระมเหสีจึงลงเรือสำเภาแต่ก็ถูกพายุพัดจนเรือแตก พระไชยสุริยาและมเหสีขึ้นฝั่งได้
                                                                            
             ในเรื่องได้สอดแทรกคติธรรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย         จุดประสงค์ของการแต่งก็เพื่อถวายพระอักษรแด่พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี พระอัครชายา คือเจ้าฟ้าชายกลางแล้วเจ้าฟ้าปิ๋ว   ครั้นต่อมาในรัชกาลที่ 5 เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่งหนังสือมูลบทบรรพกิจ สำหรับใช้เป็นแบบเรียนหนังสือไทยในโรงเรียนหลวง คงเห็นว่ากาพย์เรื่องพระไชยสุริยานี้ เป็นบทกวีนิพนธ์ที่ไพเราะทั้งอ่านเข้าใจง่ายและเป็นคติ จึงนำมาบรรจุไว้ในมูลบทบรรพกิจเป็นตอนๆ ตั้งแต่แม่ ก กา ไปจนจบ เกยในการศึกษากาพย์พระไชยสุริยา ผู้เรียนจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับลักษณะการแต่งคำประพันธ์ประเภทกาพย์ ได้แก่ กาพย์ยานี11 กาพย์ฉบัง16 และ กาพย์สุรางคนางค์ 28
        เนื้อความตอนที่มองได้ว่า   1. เสียดเย้ยสังคม   หรือ 2. เป็นการนำเอาภาพด้านลบ ใช้ตัวอย่างที่ไม่ดี มาสอนผู้คน (มีตัวอย่างเช่น  วรรณคดีเรื่อง “ธนญไชยชาดก” ซึ่งตัวเอกคือพระโพธิสัตว์ที่เสวยชาติเป็นบัณฑิต     ส่วนกษัตริย์ผู้ครองเมืองเป็นคนไม่ดี เป็นต้น)       

พระศรีไตรสรนา

เทวดาในราศี









  




























11 สิงหาคม 2553

ปริศนาธรรมวันแม่

                                                          ปริศนาธรรมวันแม่


“วันแม่” วันมหามงตล โน้มนำให้ชาวไทยรำลึกถึงพระคูณแม่ นึกถึงบทบาทความสำคัญของแม่ นึกถึงความสำคัญของครอบครัว นึกถึงความสำคัญของผู้หญิง

โน้มนำถึงความรักชาติด้วย เพราะชาติหรือมาตุภูมิก็เปรียบประดุจแม่

รวมถึงโน้มนำให้รำลึกถึงโลกธรรมชาติ อันเป็นแม่หล่อเลี้ยงสรรพสิ่งในพิภพนี้

บทความรำลึกพระคุณแม่ใน “วันแม่” นี้มีมากมาย แต่อาจมีปริศนาธรรมบางข้อที่หลายท่านอาจจะมิได้ใคร่ครวญในแง่มุมนั้นบ้าง

นั่นคือในธรรมชาตินั้น “บางสิ่งเกิดมาแล้วก็ย่อมฆ่าซึ่งแม่แห่งตน”

พระวินัยปิฎก จุลวรรค สังฆเภทขันธกะ มีข้อความว่า

“ผลกล้วยย่อมฆ่ากล้วย ขุยไผ่ย่อมฆ่าต้นไผ่ ขุยอ้อย่อมฆ่าต้นอ้อ สักการะย่อมฆาสคนชั่ว เหมือนม้าอัสดรซึ่งเกิดในครรภ์ ย่อมฆ่าแม่ม้าอัสดรนั้น”

พระสุตตันตปิฏก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค จตุตถวรรค ปักกันตสูตร มีข้อความว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนต้นกล้วยเผล็ดผล เพื่อฆ่าตนเองเพื่อความเสื่อมฉันใด ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้ไผ่ออกขุย เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อมฉันใด ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อม ฉันนั้นเหมือนกัน

กูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนไม้อ้อออกดอก เพื่อฆ่าตนเองเพื่อความเสื่อมฉันใด บาภสักการะชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัต เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อมฉันนั้นเหมือนกัน

ดุกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่ม้าอัสดรตั้งครรภ์ เพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อมฉันใด ลาภสักการะและชื่อเสียงเกิดแก่เทวทัตเพื่อฆ่าตนเอง เพื่อความเสื่อมฉันนั้นเหมือนกัน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและชื่อเสียง ทารุณ ฯลฯ อย่างนี้แล เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แหละ”

นอกจากในพระไตรปิฎกแล้ว “ปัญหาว่าด้วยธรรมชาติที่เกิดมาแล้วย่อมฆ่าซึ่งแม่ของตน” ก็ยังปรากฏในวรรณกรรมคำสอน เช่น คัมภัร์ธรรมนีติ ดังคาถาบทที่ 154 ว่า

“ลูกกล้วยฆ่าต้นกล้วย ขุยไผ่และดอกอ้อย่อมฆ่าต้นไผ่และต้นอ้อ ลาภผลฆ่าคนชั่ว ลูกม้าอัสดรก็ฆ่าแม่ม้าอัสดรเหมือนกัน”

แต่มนุษย์นั้น ได้ชื่อว่าจิตใจสูงส่ง มนุษย์มีคุณสมบัติรู้จักกตัญญูกตเวทิตา นี่เป็น “ธรรมชาติอันอัศจรรย์”

ในเรื่องธนัญชัยบัณฑิตชาดก บัณฑิตสามคนที่มาโต้แย้งกับธนัญชัยบัณฑิตโพธิสัตว์ บอกว่าความอัศจรรย์ของธรรมชาติคือ 1.การที่คนเรารู้จักปฏิสันถารพุดจาปราศรัยกัน 2.การที่คนเรารู้จักสรรเสริญเยินยอกัน 3.การที่คนมีความเคารพยำเกรงกัน แต่ธนัญชัยบัณฑิตโพธิสัตว์ตอบแก้ปัญหาว่า ความอัศจรรย์ของธรรมชาติทั้งสามประการนั้น ไม่มีแก่นสาระ ธรรมชาติอันเป็นอัศจรรย์อันประกอบด้วยแก่นสาระนั้น ได้แก่กตัญญูกตเวทิตา รู้คุณท่านและตอบแทนคุณท่าน นี่และเป็นอัศจรรย์อันประเสริฐในโลกนี้

นี่แลคือธรรมชาติของมนุษย์ที่แตกต่างจากธรรมชาติของสัตว์อื่น

หวังว่า “กตัญญูกตเวทิตา” จะมีอยู่ในใจทุกท่านทุกวัน มิใช่มามีเฉพาะในวันแม่เท่านั้น

10 สิงหาคม 2553

วรรณคดีการเมือง (๑)

                                                  วรรณคดีการเมือง (1)


วรรณคดีการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีเปรียบเทียบ

วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และน่าจะถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากด้วย

วัฒนธรรมนั้นมีชีวิต เพราะเกิดจากมนุษย์ ขึ้นอยู่กับมนุษย์ เป็นผลิตผลของมนุษย์ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมจะส่งผลกระทบต่อวรรณกรรมทั้งรูปแบบและเนื้อหา ทำให้เกิดการแสดงออกผ่านวรรณกรรมทั้งโดยในรูปไม่จงใจส่งผลสะเทือนย้อนกลับไปเปลี่ยนวัฒนธรรม และโดยมีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในส่วนนั้น ๆ ของสังคมของตนให้เป็นไปตามแบบที่ตนศรัทธา

ตันติวรรณกรรม (วรรณกรรมคลาสสิค) ของไทยส่วนใหญ่มีลักษณะไม่จงใจส่งผลสะเทือนไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม มีเพียงส่วนน้อยที่มีเจตนาสร้างผลสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ซ้ำร้ายยังต้อง “ซ่อนนัย” ทำให้น้อยคนจะเข้าใจวรรณกรรมลักษณะนี้

โดยทั่วไปเราเรียกวรรณกรรมที่ดีเลิศว่า “วรรณคดี” มีนัยว่าวรรณกรรมทุกเรื่องมิใช่จะคือวรรณคดีเสียทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม บทความชุดนี้จะใช้คำว่า “วรรณคดี” กับงานวรรณกรรมทุกชิ้นที่ผู้เขียนนำมาอ้างอิง เพราะวรรณกรรมที่ผู้เขียนยกมาเสนอ บางเรื่องแม้จะมิใช่วรรณคดีระดับที่วงการทั่วไปยกย่องว่าเป็นดีเยี่ยมอันดับที่หนึ่งก็ตาม แต่ผู้เขียนก็เห็นว่ามีคุณค่าในด้านการแต่งวรรณกรรมเพียงพอจะเรียกว่าวรรณคดีได้ทุกเรื่อง

การศึกษาวรรณคดีนั้น เราควรจะทำหลาย ๆ ด้าน อย่างที่เรียกว่า “วรรณคดีเปรียบเทียบ”

“โดยปกติ งานทางวรรณกรรมเรื่องหนึ่งอาจศึกษาได้หลายแนว ถ้าแยกอย่างกว้าง ๆ ก็จะมีสองแนว คือ ลักษณะทางการแต่งหรือสิ่งภายใน กับวัสดุทางข้อมูลกับความคิดหรือสิ่งภายนอก การศึกษาจากทัศนะของวรรณคดีเปรียบเทียบ ที่ผู้ศึกษาพบในบทความทางวิชาการส่วนใหญ่จะแสดงการค้นคว้าและวิเคราะห์ในแนวเดียว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะศึกษางานชิ้นเดียวกันนี้ในแง่อื่นไม่ได้ แม้แต่จะเป็นการศึกษาแนวภายนอกด้วยกัน เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม อาจศึกษาไนแง่จิตวิทยาด้วยก็ได้ เช่นเดียวกับที่เราอาจศึกษาการแต่งกวีนิพนธ์บทหนึ่งในแนวภายในจากแง่ของจินตภาพ การสร้างประโยค และการใช้รูปแบบทางฉันทลักษณ์ เป็นค้น การที่มีผู้ศึกษาวรรณกรรมชิ้นหนึ่งจากแง่หนึ่ง จึงไม่ได้ตัดหนทางที่จะมีการศึกษาเรื่องเดียวกันในแง่อื่น และไม่ได้หมายความว่า เมื่อการศึกษาในแง่หนึ่งเป็นที่ยอมรับ การศึกษาในแง่อื่นอีกหลายแง่จะหมดความหมาย ตรงกันข้าม ผู้ที่สนใจวรรณกรรมเรื่องนั้นกลับได้ประโยชน์จากการรวบรวมผลของการศึกษาต่างแง่ในแนวเดียวกันมาพิจารณาเทียบเคียง ทำให้เห็นคุณค่าและความหมายของวรรณกรรมได้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น” (“วรรณคดีเปรียบเทียบ” สุธา ศาสตรี มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ ๒๕๒๕ หน้า ๙-๑๐)

การศึกษาวรรณคดีไทยในแง่ “การเมือง” ยังมีผู้ศึกษากันน้อย บทความชุดนี้มุ่งหมายเพื่อช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และทัศนะเท่าที่สติปัญญาของผู้เขียนจะทำได้

ผู้เขียนเห็นว่า ตำราเรียนของไทยส่วนใหญ่เน้นเสนอแต่ทัศนะความเข้าใจของผู้เขียน ไม่ค่อยเสนอหลักฐานชั้นต้นคือบทประพันธ์ในวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ จะยกเอามาเป็นตัวอย่างก็เพียงน้อยนิด บทความชุดนี้จึงพยายามนำเสนอคำประพันธ์จากวรรณคดีที่กล่าวถึงนั้นให้มากสักหน่อย บางเรื่องที่เป็นชิ้นสั้น ๆ ก็จะคัดมาทั้งหมด เพื่อความสะดวกของผู้ศึกษาไม่ต้องไปพลิกหนังสือหาอ่านที่อื่น

วรรณคดีสังคม

ผู้เขียนใช้คำว่า “วรรณคดีสังคม” เพื่อเปรียบเทียบกับ “วรรณคดีการเมือง”

“วรรณคดีสังคม” ผู้เขียนตั้งใจหมายถึง วรรณคดีส่วนที่สื่อแสดง “แนวคิด” หรือ “กระแสอารมณ์ความรู้สึก” ในสังคม ซึ่งมีทั้งที่สื่อแบบปรุงแต่งซ่อนนัย และสื่อ สะท้อนภาพเป็นจริงแบบสัจจะนิยม แต่วรรณคดีระดับนี้ยังไม่ถึงกับวิพากย์วิจารณ์สังคมหรือสถาบันในสังคมขนาดที่จะจัดให้เป็นวรรณคดีการเมือง

ตัวอย่างวรรณคดีสังคมแบบสื่อปรุงแต่งซ่อนนัย ก็เช่น มุขปาฐะเรื่อง “เซี่ยงเมี่ยง” ของล้านช้าง ล้านนา . “ศรีธนญชัย” ของไทยกลาง , “ขะต้ำป๋าหรือกะต้ำป๋า” ของล้านนา , “จั่วน้อย” (เณรน้อย) ของ อีสาน

ตัวอย่างวรรณคดีสังคมที่สื่อแสดงภาพสังคมแบบสัจจะนิยม ก็มีบทร้อยกรองบางตอน ในวรรณคดีเรื่อง กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ , ปุณโณวาทคำฉันท์ , บทร้องมหโหรีครั้งกรุงเก่าบางเพลง เป็นต้น

๑ . วรรณกรรมเสียดเย้ย

สำหรับนิทาน “เซี่ยงเมี่ยงค่ำพญา” “ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊” และเรื่องจั่วน้อยนี้ ชื่อเรื่องได้บอกนัยไว้แล้วว่า เป็นเรื่องเสียดเย้ย ที่ชนชั้นล่าง (ไพร่) ในสังคมระบายความขับข้องหมองใจออกมาเป็นนิทานตลกขำขัน โดยใช้ชนชั้นสูง คือพญา (ชนชั้นปกครอง) และตุ๊เจ้า (พระภิกษุ ) เป็นตัวตลก ส่วนข้าพญาคือเซี่ยงเมี่ยง ขะต้ำป๋า - เด็กวัด (ขโยมวัด) และจั่วน้อย เป็นตัวเอกที่ฉลาดกว่าพญาและตุ๊เจ้า จนสามารถ “ค่ำ” (กลั่นแกล้ง)พญาและตุ๊เจ้าได้

ในสังคมเป็นจริง คนระดับล่างอย่างเซี่ยงเหมี้ยงและขะต้ำป๋า หรือศรีธนญชัย ไม่สามารถจะกลั่นแกล้งคนชั้นสูงได้ จะทำได้ก็เพียงในจินตนาการ โดยซ่อนนัยเอาไว้ในนิทานชวนหัวเท่านั้น

นิทานทำนองนี้ ยังมีปรากฏในสังคมชาวไทใหญ่ และกลุ่มเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ในอุษาคเนย์เช่นกัน นิทานเรื่องทำนองนี้มีแพร่หลายในเปอร์เซียอีกด้วย

นิทานของชาวไทใหญ่นั้นเรียกกันว่า “ไอ่จอกขี้แหลน” แปลว่า ไอ้จอกขี้โกหก

นิทานเหล่านี้เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เล่าด้วยภาษาพื้นเมืองจึงจะได้รสชาติ ถ้าแปลงเป็นเรื่องอ่านใช้สำนวนไทยภาคกลางเสียแล้วจะหมดสนุก

อย่างนิทานไอ่จอกขี้แหลนเรื่องหนึ่ง แปลเป็นไทยกลางว่า

ขุนหัวคำ (เจ้าเมือง)ถามไอ้จอกว่า “ไอ้จอก มึงหลอกกูลงน้ำได้มั้ย”

ไอ้จอกบอกว่า “ปัญหาข้า บ่ มีจะหลอกขุนหัวคำลงน้ำได้ แต่ข้ามีปัญญาหลอกขุนหัวคำขึ้นจากน้ำได้”

ขุนหัวคำได้ฟังก็โดดลงน้ำดังจ๋อม

ไอ้จอกได้แต่หัวร่อ ฮิ ๆ ๆ

เรื่องเซี่ยงเมี่ยงนี้ แพร่หลายทั้งในล้านนาและล้านช้าง แต่ในรายละเอียดก็มีแตกต่างกันบ้าง แม้เรื่องทางล้านช้าง(ลาวและไทอีสาน)เองก็มีแตกต่างสำนวนกันไปมาก

ต้นตอของเซี่ยงเมี่ยง ทางล้านนาเล่าว่า

“มียายแม่หม้ายคนหนึ่ง มีลูกสามคน ทีแรกนั้น ยายแม่หม้ายคนนี้จะข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง ทีนี้ก็ข้ามไม่ได้ มีพญาขี่เรือมา ขอข้ามพญา(ขอข้ามไปกับพญา) พญาก็ไม่ให้ข้าม พระพายเรือมาอีก ขอข้ามกับพระ พระก็ไม่ให้ข้าม ทีนี้ก็มีลัวะพายเรือมาอีก ขอข้ามกับลัวะ ลัวะก็ไม่ให้ข้าม

ก็เลยผูกเวรไว้ว่า ขอภาวนา(ผาถะนา) มีลูกสามคน

คนหนึ่งไปแกล้งพญา

คนหนึ่งไปแกล้งพระ

คนหนึ่งไปแกล้ง ลัวะ

ทีนี้ก็ พอดีก็..ยายแม่หม้ายคนนั้นเกิดมาอีกชาติหนึ่ง มาได้ผัวสิ มีลูกสามคนแหละ (ได้แต่งงานอยู่กินกับสามี จนมีลูกด้วยกันสามคน) ผัวตายทิ้ง เลยเป็นยายแม่หม้าย มีลูกสามคน คนหัวปี ไปแกล้งพญา (ลูกคนหัวปี ของนางแม่หม้าย ก็ได้ไปแกล้ง พญา ดังคำสาปแช่ง ที่นางแม่หม้ายได้อธิษฐานไว้ เมื่อชาติปางก่อน)

มัน…เที่ยวไปตามในบ้านในเมืองเนี่ย (ท่องเที่ยวไปวัน ๆ) เจอใครก็โกหก หลอกเล่นไปเรื่อย คนอื่นเห็น (คนอื่นๆ เห็นว่า)

“เออ…หมอนี่สมควรไปอยู่กับพญา มันพูดตลกขบขันดี”

พญาก็เอาอยู่ด้วยพญา บ้านเป็นทัพเมืองเป็นศึก พญาว่า(พญาจึงได้สั่งกับเซี่ยงเมี่ยงว่า)

“เซี่ยงเมี่ยง ให้มึงอยู่บ้านนะ”

มันก็อยู่ อยู่เฝ้าบ้าน ทีนี้ พญาไปทัพ ปล่อยมันเฝ้าบ้าน มันก็พยายามเล่นเมียพญา(เซี่ยงเมี่ยงเล่นชู้กับเมียพญา) เมียพญาก็เล่นคบชู้กับมัน จนไม่รู้จะทำยังไง

พญามารู้ว่ามันเล่น มันก็ว่ามันไม่ได้เล่น

“ผมไม่ได้เล่น ผมไม่ได้ทำจริงๆ”

“ก็มึงมีหลักฐานเหรอ”

“มีสิ .. ถ้าผมได้เสพได้สู่กับเมียพญา ดูผมนี่เถอะ”

เอาปลาร้าปลาสร้อยเข้าพอกหัวแหละ “ดูสิ”

กลิ่นสาบตลบอบอวน พญาก็เลยเชื่อมัน ว่าไม่ได้เล่นจริง” (จากเรื่อง “มรดกทางวรรณกรรมของอุษาคเนย์ เซียงเมี่ยง จอมกะล่อน” http://thaiarc.tu.ac.th)