17 ธันวาคม 2552

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (6)

อาจารย์หม่อม เขียนเรื่องสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ต่ออีกในคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า๕” ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2511 ดังต่อไปนี้

“ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิภาณของสมเด็จฯวัดบวรฯ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะนำมาเขียนเก็บรวบรวมเอาไว้ในที่นี้ด้วย

ประมาณ สักสามทสิบปีมาแล้วเห็นจะได้ มีพระภิกษุรูปหนึ่งเขียนหนังสือไปถึงเจ้านายองค์หนึ่งที่ทรงดำรงตำแหน่งสูง อยู่ในวงการรัฐบาล หนังสือนั้นตำหนิติเตียนเจ้านายองค์นั้นต่าง ๆ และลงท้ายด้วยการแช่งชักให้เจ้านายองค์นั้นมีอันเป็นไปต่าง ๆ อีกด้วย

ท่านผู้ที่ถูกแช่ง จึงส่งหนังสือนั้นมาถวายสมเด็จฯ พร้อมกับขอให้จัดการกับพระภิกษุรูปนั้น

16 ธันวาคม 2552

ตามรอยคึกฤทธิ์ 7 : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (5)

ฉบับที่แล้วเล่ามาถึงตอนที่ อาจารย์หม่อมท่านทอดด้วงโสน ไปถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขอให้ฉันอาหารที่พ่อ-แม่ ของท่านอาจารย์หม่อมชอบกิน เพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศลไปถึงพ่อแม่แต่พอถึง “ด้วงโสน” ซึ่งเป็นหนอน ท่านสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ท่านรับไม่ไหวแล้ว
อาจารย์หม่อมท่านเขียนเล่าว่า
..................
“พอเปิดฝายื่นชามเข้าไป จะประเคน ท่านมองดูด้วงในชาม แล้วท่านก็หดมือ ถามว่า
“นี่อะไร ? ”
“ด้วงโสน” ผมว่า
“ไม่กินว่ะ ใครจะไปกินหนอน”
“เอาหน่อยน่า แม่ชอบกิน” ผมออด
“วันนี้ ไปรษณีย์ปิดโว้ย” สมเด็จฯท่านว่า “กันกินไม่เป็น เห็นเข้าก็คลื่นไส้ ใครจะไปกินลง”
“แล้วจะทำยังไงดีล่ะ” ผมถาม
“เอ็งกินเข้าไปเองก็แล้วกัน”
“มันก็ไม่ถึงแม่นะซี” ผมเถียง
“นั่นแหละ ดีกว่าอะไรทั้งหมด “ สมเด็จฯ ท่านว่า “พ่อแม่นั้นรักลูกยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น พ่อแม่ยอมอดเพื่อให้ลูกได้กิน ถ้าแม่เอ็งรู้ว่าเอ็งได้กินสิ่งที่เขาชอบ เขาก็คงดีใจมาก ทำให้พ่อแม่ได้ยินดี มีความสุขใจนั้น เป็นบุญหนักหนาอยู่แล้ว”

ตามรอยคึกฤทธิ์6 : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (4)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (4)
เกร็ดประวัติสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ยังนำมาลงต่อได้สักสองตอนครับ
วันนี้เชิญอ่านต่อได้เลยครับ
“พูดกันทางเมตตา ฝรั่งเขามีนักบุญที่บวชเป็นพระชื่อ เซนต์ ฟรังซิส แห่งอัสสิซี ผู้ซึ่งมีเมตตาสูงขนาดนกป่าบินเข้ามาห้อมล้อมท่าน ไม่เกรงกลัวเลย
เมืองไทยเราก็เคยมีพระสังฆราชไก่เถื่อน ซึ่งว่ากันว่าท่านมีเมตตาสูงขนาดไก่ป่าที่เปรียวที่ที่สุดนั้นมาหาท่านได้
ถ้าจะขนานนามสมเด็จฯแบบนี้ก็เห็นจะต้องเรียกท่านว่า “สังฆราชจิ้งจก”
เพราะท่านเลี้ยงจิ้งจกเชื่องทั้งกุฎิของท่าน
เวลาสมเด็จฯฉันเช้าหรือเพล ท่านก็ออกไปนั่งที่ห้องเล็กหน้ากุฏิ หันหลังพิงฝา
ข้าวเพียงช้อนถ้วยเดียว ท่านฉันอยู่ตั้งนานไม่รู้จักหมด
แต่ขณะที่ฉันนั้นท่านก็หยิบข้าวสุกทีละเมล็ดจิ้มกับข้าวอย่างนั้นบ้างอย่างนี้บ้าง แล้วก็เอาติดไว้ที่ฝาเบื้องหลัง ท่านเอานิ้วเคาะที่ฝาเบา ๆ ทีหนึ่งหรือสองที จิ้งจกก็วิ่งออกมากิน
บางตัวก็ออกมาคอยอยู่เลย
และกินจากมือท่าน
บางวันดูเหมือนว่าจิ้งจกจะได้กินข้าวมากกว่าสมเด็จฯ
ความเมตตานั้นมีหลายชั้นเหลือเกิน
บางคนเมตตาสัตว์เฉพาะบางชนิด
เช่นสัตว์ที่สวยงาม หรือฉลาด หรือมีราคา
แต่สมเด็จฯท่านเมตตาแม้จิ้งจกที่เป็นสัตว์เลื้อคลาน ซึ่งคนส่วนมากรังเกียจ
เรื่องนี้ผมเคยแต่นั่งดูแล้วเก็บเอาไว้ในใจ ไม่เคยถามท่าน และท่านก็ไม่เคยพูดกับผม
แต่ดูเหมือนหับว่าท่านรู้จักกับจิ้งจกทุกตัวในกุฏิ
และจิ้งจกตัวหนึ่งก็เป็นอีกชีวิตหนึ่งในโลก ที่มีชีวิตเป็นอนันต์นี้
พูดถึงเรื่องสมเด็จฯฉันข้าวก็เห็นจะต้องบอกไว้ด้วยว่า ตั้งแต่ผมได้รู้จักเคารพนับถือท่านมาหลายสิบปีตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็กมาจนโต เคยเห็นแต่ท่านฉันเพื่ออยู่แท้ ๆ ไม่เคยเห็นท่านสนพระทัยในอาหารที่เขาประเคนท่านเลย
ดูสมเด็จฯฉันข้าวแล้วก็เหมือนกับดูคนเติมน้ำมันรถ หรือเอาถ่านใส่ไฟในเตาเพื่อมิให้ดับ มิได้มีความคิดถึงการกินข้าวด้วยความเอร็ดอร่อยเกิดขึ้นในใจเลย
บางทีมีคนเอาอาหารตกแต่งแล้วอย่างประรีตไปถวายท่าน ท่านก็ฉันเพียงเพื่อฉลองศรัทธา แล้วก็แค่นั้น
ผมเองชอบทำบุญไปให้พ่อให้แม่
พ่อแม่ที่ตายไปแล้วชอบกินอะไร ก็มักจะหาของเหล่านั้นไปถวายพระ
แล้วก็กรวดน้ำไปให้พ่อให้แม่ได้กนในปรโลก
ทำแล้วก็เกิดความสบายใจได้มาก
จำได้ว่าครั้งแรกนำเอาแกงที่พ่อเคยชอบกินไปถวายสมเด็จฯตอนท่านฮันเพล
ท่านรับประเคนแล้ว ท่านก็ยังเฉย ๆ อยู่
ผมก็ทูลว่า ต้องขอแรงเป็นพิเศษ ฉันแกงสักช้อนหนึ่งเถิด จะได้กรวดน้ำไปให้พ่อได้กิน เพราะพ่อชอบกินแกงอย่างนี้
“อ๋อ” สมเด็จท่านว่า “เอ็งเห็นพระเป็นตู้ไปรษณีย์หรือ ?”
ผมก็รับว่าใช่ ฉันให้หน่อยเถอะน่า จะได้สบายใจ
ท่านก็ฉันให้
ผมก็กรวดน้ำไปให้พ่อ
ต่อมาก็เป็นที่รู้กัน มีอะไรที่พ่อแม่ชอบกินและคิดถึงพ่อถึงแม่ขึ้นมาก้หาของไปถวายสมเด็จฯแล้วก็กรวดน้ำไปให้ทุกครั้งไป
แม่ผมชอบกินด้วงโสนอย่างยิ่งยวด
สำหรับคนสมัยใหม่ที่ไม่รู้จักก็ขอบอกว่าด้วงโสนนั้นเป็นตัวด้วงขาว ๆ ยาวขนาดนิ้วก้อย เกิดในต้นโสน ได้ตัวมามากพอแล้วก็เอาผัดตีกระเทียมใส่หมูเล็กน้อยเหยาะน้ำปลาดีหน่อยหนึ่ง กินกับข้าวร้อน ๆ ดีนัก
ถ้าจะดูกันอย่างหึวาม ก็เหมือนหนอนตัวโต ๆ ผัด
ครั้งหนึ่งหาด้วยโสนมาได้ ผัดตีกระเทียมอย่างที่แม่เคยชอบกิน รับเอาไปถวายสมเด็จฯที่วัดบวรฯ ให้ทันเพล
พอเปิดฝา ยืนชามเข้าไปจะประเคน ท่านมองดูด้วงในชามแล้ว ท่านก็หดมือ ถามว่า
“นั่นอะไร ?”

ตามรอยคึกฤทธิ์ : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (3)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (3)
เกร็ดประวัติของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ มีมากครับ แต่ที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนเล่าไว้นั้น ค่อนข้างจะเป็นเรื่องชั้นยอด
เมื่อวานเสนอเนื้อความจาก “สยามรัฐหน้า ๕” ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2511 เนื้อความในคอลัมน์วันนั้นยังไม่จบครับ
เชิญอ่านตอนต่อไปครับ
.................................
“สมเด็จฯทรงมีศิษยานุศิษย์มากมาย ประมาณไม่ได้ ทุกคนก็คงจะยืนยันได้ว่าสมเด็จฯทรงมีความสามารถเป็นอัจฉริยะในอันที่จะทำให้บุคคลได้ความรู้ความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในธรรมะของพระพุทธเจ้า
แต่สมเด็จฯทรงมีวิธีสอนธรรมอย่างอื่นอีก และทรงปฏิบัติองค์ให้ผู้อื่นเห็นธรรมได้เนืองนิตย์
เป็นต้นว่าธรรมคือความไม่ประมาท
สมเด็จฯเสด็จกลับจากหัวหิน ผมก็ไปเฝ้าเยี่ยมในเย็นนั้น
ที่ปากประตูกุฏิมีต้นอะไรแค่คืบใส่กระป่องนมวางอยู่
ผมถามสมเด็จฯว่าต้นอะไร
ท่านบอกว่า “ต้นพยอมว่ะ สมภารวัดหัวหินท่านให้กันมา”
“โอ้โฮ” ผมว่า
“ทำไมโอ้โฮ ?” สมเด็จฯถาม
“ก็ต้นพะยอมมันต้องใช้เวลาถึงสี่สิบหรือห้าสิบปีตั้งแต่ปลูกจึงจะโตออกดอกได้ สมเด็จแก่จะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว จะไปได้ดูดอกมันทันอย่างไร”
“อย่างนั้นหรือ” สมเด็จฯว่า “เอ็งว่ากี่ปีนะ”
“ห้าสิบปี”
สมเด็จฯตะโกนเรียกเวยยาวัจกรลั่นกุฏิ พอเวยยาวัจกรมาเฝ้าแล้วก็รับสั่งให้เอาต้นพะยอมแค่คืบนั้นไปหาที่ปลูกทันที อย่าให้เสียเวลาแม้แต่นาทีเดียว
“ไอ้นี่มันบอกว่าต้องปลูกถึงห้าสิบปี ต้นพะยอมมันจึงจะออกดอก ต้องรีบปลูกเร็ว ๆ อย่าให้เสียเวลา ลุแก่ความประมาทไม่ได้”
ตั้งแต่นั้นมามีต้นอะไรจะปลูก ผมก็รีบปลูก มีอะไรที่จะต้องทำ ผมก็รีบทำให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ ไม่เคยผัดวันประกันพรุ่ง ลุแก่ความประมาทอีกเลย
ต้นพะยอมที่วัดบวรฯได้ยินใครบอกว่าออกดอกแล้ว ความจริงก็ม่ถึงห้าสิบปีหรอก

วันดีคืนดีก็เอาสมเด็จไปผ่าท้อง ตัดลำไส้ซ่อมเครื่อง แล้วก็เย็บท้องสมเด็จฯปิดไว้ใหม่
ผมไปเยี่ยมสมเด็จฯที่โรงพยาบาล ทูลถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง ท่านบอกว่า
“รู้อยู่แล้วว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นทุกข์ รู้อยู่แล้วว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ชาตัวตนและเป็นทุกข์ แต่ทั้งรู้อย่างนั้น มันก็ยังเจ็บจริงโว้ย”
เรื่องของสมเด็จฯยังไม่หมด วันนี้เอาไว้แค่นี้ก่อน”
(สยามรัฐหน้า๕ วันที่ 12 กันยายน 2511)
ในคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า ๕” วันรุ่งขึ้นคือวันที่ 13 กันยายน อาจารย์หม่อมก็เขียนเล่าเรื่องสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ต่อดังนี้
“วันนี้ต้องขอพูดเรื่องสมเด็จฯวัดบวรฯ ต่อไปอีก
ได้เล่าถึงเรื่องทีท่านสอน อปปฺมาทธรรม ให้แก่ผมมาแล้ว เรื่องต่อไปเกี่ยวกับความไม่โลภ
มีพระมหาองค์หนึ่งบวชอยู่วัดบวรฯ เป็นพระมาจากต่างจังหวัดและยากจนมาก เมื่อถึงเวรจะขึ้นไปอยู่ปฏิบัติสมเด็จฯ ท่านมหาก็นุ่งห่มจีวรที่เก่าขาดขึ้นบนกุฏิสมเด็จฯเสมอ เพราะท่านมหามีอยู่เท่านั้นจริง ๆ หลายครั้งเข้าสมเด็จฯท่านก็เกิดเมตตา จึงประทานผ้าไตรใหม่ให้ท่านมหาชุดหนึ่ง บอกว่าให้เอาไปใช้ได้
ท่านมหาก็มีไตรจีวรใหม่ครองกับเขาบ้าง
พระภิกษุอีกองค์หนึ่งซึ่งไม่ยากจนขาดแคลนได้เห็นท่านมหาได้ประทานไตรจากสมเด็จฯก็เกิดอยากได้ประทานไตรขึ้นมาบ้าง ถึงเวลาที่พระองค์นั้นต้องขึ้นไปอยู่เวรปฏิบัติสมเด็จฯ ท่านก็เลือกเอาแต่จีวรเก่า ๆ ขาด ๆ ครองขึ้นไปทุกครั้ง
สมเด็จฯได้ทอดพระเนตรเห็นก็นิ่งอยู่ ไม่รับสั่งว่าอะไรหรือทรงทำอะไร
แต่พระองค์นั้นก็มิได้เลิกความพยายาม ยังคงนุ่งห่มไตรจีวรที่เก่าและขาดขึ้นไปบนกุฏิสมเด็จฯเสมอเป็นเวลานานพอดู
วันหนึ่งสมเด็จฯท่านเดินไปที่ตู้ แล้วหยิบเข็มกับด้ายมายื่นให้พระองค์นั้น แล้วบอกว่า
“คุณเอาไปเย็บจีวรเสียบ้างซี”
(สยามรัฐหน้า๕ วันที่ 13 กันยายน 2511)

บทความการเมือง:มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช
ปัญหาไม่จบสิ้น
โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 199 กิโลเมตร เป็นโครงการเก่า พยายามผลักดันกันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ก็ถูกคัดค้านมาตลอด จึงต้องชะลอไว้ จนกระทั่งมาได้ “งบเข้มแข็ง” ในรัฐบาลนี้ โครงการนี้จึงฟื้นชีพขึ้นมาอีก
รวมทั้งเพิ่มงบประมาณจาก 2 หมื่นเก้าพันล้านเป็น 5 หมื่นกว่าล้านบาทอีกต่างหาก
อนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา แถลงข่าวแสดงความเคลือบแคลงสงสัย เรื่องงบประมาณ เรื่องมีการตัดผ่านพื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่ โดยไม่ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์ และจะจัดสัมนาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 ธันวาคม ศกนี้
อันที่จริงโครงการนี้มีปัญหามาตลอด มีการโต้แย้งคัดค้านกันมาก แต่เผลอเมื่อใด กรมทางหลวงก็จะเสนอโครงการต่อรัฐบาลอีก
ตอนรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ กรมทางหลวงก็เสนอเข้า ครม. ผ่านงบประมาณสองหมื่นเก้าพันล้านบาท โดยจะให้เอกชนลงทุน (เดือนตุลาคม 2549) ถึงเดือนธันวาคม กรมทางหลวงก็ออกข่าวจะสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้ด้วยงบ 3.1 พันล้านบาท
ตลอดปี พ.ศ 2550 ระหว่างการสำรวจเส้นทางและประชาพิจารณ์ มีปัญหาการคัดค้านของชุมชนต่าง ๆ เป็นข่าวตลอดปี แต่ในที่สุดก็สรุปเส้นทางออกมาได้ในปี พ.ศ 2551
โครงการมอเตอร์เวย์นี้ จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่อำเภอบางปะอิน ต่อจากวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภออุทัย อำเภอหนองแค อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ สิ้นสุดที่อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งจะบรรจบทางเลี่ยงเมืองพอดี รูปแบบโครงการจะเป็นถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร โดยช่วงอำเภอบางปะอิน-แก่งคอย ระยะทาง 45 กิโลเมตร ถนนขนาด 4 ช่องจราจร จากอำเภอแก่งคอย-อำเภอเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 120 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใน 3 ช่วง คือ ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี กิโลเมตรที่ 40-กิโลเมตรที่ 47 บริเวณโรงปูนซีเมนต์ทีพีไอ กิโลเมตรที่ 69-กิโลเมตรที่ 75 บริเวณฟาร์มโคนม อสค. กิโลเมตรที่ 82-กิโลเมตรที่ 84 เป็นทางยกระดับที่ลำตะคองขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 18 กิโลเมตร ช่วงกิโลเมตรที่ 125-กิโลเมตรที่ 143
และก็ได้เสนอเพิ่มงบประมาณขึ้นเป็น ค่าก่อสร้าง 45,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 4,700 ล้านบาท มีผู้ถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 3,400 ราย
แต่ข่าวจากกรมทางหลวงก็มิได้กล่าวถึงการใช้พื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่เลย !
มาถึงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP : Public Private Partnership Committee) เห็นชอบโครงการนำร่องในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (บางปะอิน-โคราช) ซึ่งกำหนดไว้ในแผนคมนาคมขนส่งระยะทาง 199 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 59,150 ล้านบาท และการให้เอกชนมาร่วมลงทุน โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชน ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปีขึ้นไป ค่าผ่านทางกำหนดเบื้องต้น 1 บาท/ก.ม. ผลตอบแทนให้เอกชน 12-15 %
มาถึงยุค “งบไทยเข้มแข็ง” จะปรับรายละเอียดของโครงการไปอย่างไรบ้าง ก็ต้องตรวจสอบกัน และเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว การจะล้มโครงการนี้คงเป็นไปได้ยาก
ยกเว้นแต่เรื่องเส้นทาง ถ้าตัดพิ้นที่มรดกโลกเขาใหญ่จริง ก็จำเป็นต้องเรียกร้องให้แก้ไขเสีย ถ้าไม่แก้ไข โครงการจะสะดุดติดขัดโดยไม่จำเป็น

15 ธันวาคม 2552

บทความการเมือง:มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช

มอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช
ปัญหาไม่จบสิ้น
โครงการมอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ระยะทาง 199 กิโลเมตร เป็นโครงการเก่า พยายามผลักดันกันมาหลายรัฐบาลแล้ว แต่ก็ถูกคัดค้านมาตลอด จึงต้องชะลอไว้ จนกระทั่งมาได้ “งบเข้มแข็ง” ในรัฐบาลนี้ โครงการนี้จึงฟื้นชีพขึ้นมาอีก
รวมทั้งเพิ่มงบประมาณจาก 2 หมื่นเก้าพันล้านเป็น 5 หมื่นกว่าล้านบาทอีกต่างหาก
อนุกรรมาธิการส่งเสริมภาคประชาชนป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทรัพย์สินของรัฐ วุฒิสภา แถลงข่าวแสดงความเคลือบแคลงสงสัย เรื่องงบประมาณ เรื่องมีการตัดผ่านพื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่ โดยไม่ผ่านกระบวนการทำประชาพิจารณ์ และจะจัดสัมนาเรื่องดังกล่าวในวันที่ 18 ธันวาคม ศกนี้
อันที่จริงโครงการนี้มีปัญหามาตลอด มีการโต้แย้งคัดค้านกันมาก แต่เผลอเมื่อใด กรมทางหลวงก็จะเสนอโครงการต่อรัฐบาลอีก
ตอนรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ กรมทางหลวงก็เสนอเข้า ครม. ผ่านงบประมาณสองหมื่นเก้าพันล้านบาท โดยจะให้เอกชนลงทุน (เดือนตุลาคม 2549) ถึงเดือนธันวาคม กรมทางหลวงก็ออกข่าวจะสร้างมอเตอร์เวย์สายนี้ด้วยงบ 3.1 พันล้านบาท
ตลอดปี พ.ศ 2550 ระหว่างการสำรวจเส้นทางและประชาพิจารณ์ มีปัญหาการคัดค้านของชุมชนต่าง ๆ เป็นข่าวตลอดปี แต่ในที่สุดก็สรุปเส้นทางออกมาได้ในปี พ.ศ 2551
โครงการมอเตอร์เวย์นี้ จุดเริ่มต้นโครงการอยู่ที่อำเภอบางปะอิน ต่อจากวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออก ผ่านอำเภอวังน้อย อำเภออุทัย อำเภอหนองแค อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก อำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ สิ้นสุดที่อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งจะบรรจบทางเลี่ยงเมืองพอดี รูปแบบโครงการจะเป็นถนนขนาด 4-6 ช่องจราจร โดยช่วงอำเภอบางปะอิน-แก่งคอย ระยะทาง 45 กิโลเมตร ถนนขนาด 4 ช่องจราจร จากอำเภอแก่งคอย-อำเภอเมืองนครราชสีมา ระยะทาง 120 กิโลเมตร เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร ระยะทาง 14 กิโลเมตร ใน 3 ช่วง คือ ทางเลี่ยงเมืองสระบุรี กิโลเมตรที่ 40-กิโลเมตรที่ 47 บริเวณโรงปูนซีเมนต์ทีพีไอ กิโลเมตรที่ 69-กิโลเมตรที่ 75 บริเวณฟาร์มโคนม อสค. กิโลเมตรที่ 82-กิโลเมตรที่ 84 เป็นทางยกระดับที่ลำตะคองขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทาง 18 กิโลเมตร ช่วงกิโลเมตรที่ 125-กิโลเมตรที่ 143
และก็ได้เสนอเพิ่มงบประมาณขึ้นเป็น ค่าก่อสร้าง 45,000 ล้านบาท ค่าเวนคืนที่ดิน 4,700 ล้านบาท มีผู้ถูกเวนคืนที่ดินประมาณ 3,400 ราย
แต่ข่าวจากกรมทางหลวงก็มิได้กล่าวถึงการใช้พื้นที่มรดกโลกเขาใหญ่เลย !
มาถึงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายความร่วมมือในการลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP : Public Private Partnership Committee) เห็นชอบโครงการนำร่องในการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (บางปะอิน-โคราช) ซึ่งกำหนดไว้ในแผนคมนาคมขนส่งระยะทาง 199 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 59,150 ล้านบาท และการให้เอกชนมาร่วมลงทุน โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชน ระยะเวลาดำเนินการ 30 ปีขึ้นไป ค่าผ่านทางกำหนดเบื้องต้น 1 บาท/ก.ม. ผลตอบแทนให้เอกชน 12-15 %
มาถึงยุค “งบไทยเข้มแข็ง” จะปรับรายละเอียดของโครงการไปอย่างไรบ้าง ก็ต้องตรวจสอบกัน และเมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว การจะล้มโครงการนี้คงเป็นไปได้ยาก
ยกเว้นแต่เรื่องเส้นทาง ถ้าตัดพิ้นที่มรดกโลกเขาใหญ่จริง ก็จำเป็นต้องเรียกร้องให้แก้ไขเสีย ถ้าไม่แก้ไข โครงการจะสะดุดติดขัดโดยไม่จำเป็น

14 ธันวาคม 2552

บทความการเมือง:โรคซ้ำกรรมซัด

โรคซ้ำกรรมซัด
“ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น” !
โบราณภาษิตสอนว่า โชคร้ายและเคราะห์กรรมนั้น ไม่เกิดพียงอย่างเดียว มันมักจะเกิดซ้ำซ้อนกัน
ปัญหาเศรษฐกิจไทยที่ว่ากำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นนั้น เอาเข้าจริงมันก็ยังลูกผีลูกคน ลมเพลมพัด คือยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังมีไข้ปรากฏเป็นระยะ ๆ ก่อนหน้านี้มีข่าวไม่ดีที่ดูไบ ตอนนี้ก็มีข่าวไม่ดีที่ประเทศกรีซ จนวงการกลัวกันว่าเศรษฐกิจกรีซจะแดให้ อียู ทรุดติดหล่มฟองสบู่แตกไปด้วย
จึงยังต้องระมัดระวังกันอย่างเต็มที่
มีข่าวว่าแนวโน้มราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะธัญญาหารจะดีในปีหน้า แต่นั่นก็มิใช่ข่าวดีของเกษตรกร เพราะข้าว , ข้าวโพด ฯ ไปอยู่ในมือพ่อค้าหรือรัฐบาลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ถึงราคาจะดี ประโยชน์จริง ๆ ก็มิได้ตกอยู่กับเกษตรกรผู้เพาะปลูก หนำซ้ำตอนนี้ยังมีภัยศัตรูพืชที่หายไปนาน หวนกลับมาอาละวาดทำลายข้าวเสียหายใหญ่หลวง เมื่อเดือนที่แล้วมีภัยเพลี้ยกระโดดในหลายจังหวัด ตอนนี้มีภัยหนูท้องขาวร้ายแรงในหลายจังหวัด ทั้ง ๆ ที่เพลี้ยกระโดดและหนูท้องขาวมิได้เป็นภัยร้ายแรงมานานหลายปีแล้ว จู่ ๆ ก็ปรากฏขึ้นมา อย่างนี้เองจึงอยากเรียกว่า “โรคซ้ำกรรมซัด”
แต่ “กรรม” นั้นก็คือผลการประทำของมนุษย์เราเองนั่นแหละ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยเขียนถึงภัยตั๊กแตนว่า
“ตั๊กแตนที่หากินอยู่ตามป่าอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปตามธรรมชาตินั้น ไม่เป็นภัยอันตรายต่อมนุษย์ และไม่เป็นภัยอันตรายต่อธรรมชาติที่มันอาศัยอยู่ด้วย........
แต่ถ้าใครไปทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติของตั๊กแตนเข้า ตั๊กแตนก็จะเปลี่ยนไปในทันที ทั้งทางกายและใจ
ในทางใจนั้นมันเลิกแยกกันอยู่ และรวมเป็นฝูง เกิดมีวิญญาณฝูงขึ้นมา
ในทางกายมันกลายเป็นสัตว์กินจุ กินไม่เลือกและกินไม่จบ
ตั๊กแตนที่ขาดสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติจึงเป็นภัยอย่างมหันต์ รวมฝูงเข้าแล้วออกบินมาบนท้องฟ้า บดบังแสงอาทิตย์ มีไร่นาเรือกสวนหรือแม้แต่ป่าขวางหน้าอยู่มันก็จะลงกินจนหมด” (สยามรัฐหน้าห้า วันที่19 มกราคม 2513)
ภัยเพลี้ยกระโดด ภัยหนูท้องขาว ฯลฯ ก็ทำนองเดียวกัน คือสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของมันเปลี่ยนแปลงไปจนมันมิอาจอยู่ตามปกติได้ จึงเปลี่ยนแปลงเกิดเป็น “ฝูงพิบัติภัย”
ภัยธรรมชาติซ้ำเติมภัยเศรษฐกิจที่จะมีผลลบจากปัญหาภาคการเงินของยุโรป และที่ร้ายแรงคือพิษจากปัญหานิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ! เกิดขึ้นบนพื้นฐานสังคมไทยยอบแยบเนื่องจากวิกฤติการเมืองที่รุนแรง และขยายขึ้นไปใช้ประเทศกัมพูชาเป็นสนามรบเพิ่มขึ้นด้วย เราจึงมองว่า ปี 2553 ยากจะเป็นปีที่สดใสสำหรับคนไทย.

13 ธันวาคม 2552

บทความการเมือง:คดีขนอาวุธข้ามชาติกับคดีนักเรียนฆ่ากัน

คดีขนอาวุธข้ามชาติ
กับคดีนักเรียนฆ่ากัน

เครื่องบินลำเลียงแบบทหาร รุ่น อิลยูชิน 76 สัญชาติคาซัคสถาน บรรทุกอาวุธสงครามบินลงมาจอดที่สนามบินดอนเมือง แล้วทางการไทยตรวจพบ จึงยึดอาวุธเหล่านั้นไว้ก่อน
คดีนี้นับเป็นข่าวใหญ่ระดับโลก !
สาเหตุที่เครื่องบินลำนั้นจำเป็นต้องลงจอดที่สนามบันดอนเมือง เป็นเพราะน้ำมันหมดตามที่ข่าวทางการบอก หรือว่าเป็นเพราะถูกบังคับโดยเครื่องบินรบ คงจะเป็นปริศนาไปอีกระยะหนึ่ง จนกว่าจะมีการตรวจสอบจนแน่ชัด
การลักลอบขนอาวุธลักษณะนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด ขบวนการค้าอาวุธสงครามเถื่อนนั้นดำรงอยู่จริง และมีการลักลอบขนส่งในทุกรูปแบบทั้งทางเรือและทางอากาศ และการลักลอบขายอาวุธสงครามนี้ รัฐบาลบางประเทศอาจจะรู้เห็นเป็นใจหรือกระทั่งเป็นคนจัดการเสียเอง
การขายอาวุธสงครามนั้น ไม่ใช่เรื่องผิดกฏหมายหรอก ถ้าทำกันให้ถูกหลักเกฯฑ์ตามกฏหมาย
แต่สำหรับบางประเทศที่ถูกองค์การสหประชาชาติห้ามขายอาวุธ เขาก็จำเป็นต้องลักลอบ ประเทศไทยมิได้เกี่ยวข้องด้วย กระนั้นก็ตาม เมื่อเกิดเรื่องราวอย่างนี้ขึ้น ประเทศไทยก็อาจจะถูกตั้งคำถามได้ว่า สนามบินไทยเคยเป็นที่แวะพักเครื่องบินขนอาวะสงครามมาก่อนหน้านี้ด้วยหรือไม่ ?
ถ้าโยงใยถึงข่าวที่ตำรวจไทยจับแก๊งปลอมพาสปอร์ตให้กับกลุ่มก่อการร้ายทั่วโลกได้เมื่อสัปดาห์ก่อน ก็ยิ่งน่าสงสัยว่า เมืองไทยกลายเป็นสวรรค์ของนักก่อการร้ายหรือเปล่า ?
สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาอาชญากรรม ปัญหาลัทธิก่อการร้าย ที่รุนแรงและใกล้ตัวมากขึ้นเรื่อยๆ
น่าห่วงกังวลว่า ในขณะนี้คุณภาพของ “คนไทย” ย่ำแย่ จะรับมือกับสถานการณ์ระดับสากลได้เพียงใด
เอาแค่ปัญหาอาชญากรรมเรื่องนักเรียนอาชีวะสถาบันชื่อดัง “ฆ่ากัน” เพียงเพราะเรียนอยู่คนละสถาบันเท่านั้น มันก็สะท้อนแล้วคุณภาพของคนไทยอยู่ในระดับใด
ด้านหนึ่งนักเรียนไทยเป็นแชมป์โอลิมปิควิชาการ อีกด้านหนึ่งนักเรียนไล่ฆ่ากัน แล้วนักก่อการร้ายก็มาอาศัยเมืองไทยทำอะไรก็ได้
สนุกจริง ๆ เมืองไทย !

วรรณคดีจีน1:หวางเหว่ย 王 维 - กวีพุทธ

วรรณคดีจีน
กวีพุทธ – หวางเหว่ย

鸟 鸣 涧
เหนี่ยวหมิงเจี้ยน
สกุณาร้องเหนือธาร
人 闲 桂 花 落 (เหญินเสียนกุ้ยฮัวลั่ว)
๐ คนไร้ - ไม้ดอกกุ้ย หล่นลา
夜 静 春 山 空 (เย่จิ้งชุนซานคง)
คืนสงัดวสันต์ภูผา เปล่าร้าง
月 出 惊 山 鸟 (เยวี่ยชูจิ้งซานเหนี่ยว)
จันทร์โผล่ส่องสกุณา ตระหนกตื่น
时 鸣 春 涧 中 (สือหมิงชุนเจียนจง)
แจ้วเจื่อยเสียงไปกว้าง หุบห้วยแห่งวสันต์ ๐
หวางเหว่ย กวีเอกยุคราชวงศ์ถัง
หวางเหว่ย 王 维 เป็นกวีที่มีท่วงทำนองของบทกวีเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ถึงขนาดเรียกว่าเป็น “สกุลช่าง” สกุลหนึ่ง
เขาก็เขียนอะไร ๆที่มันดูเรียบ ๆ เหมือนบรรยายทิวทัศน์ อย่างเช่นบทนี้
วรรคที่หนึ่งบอกว่า - ในที่ซึ่งปราศจากผู้คน ดอกกุ้ยฮัวร่วงหล่นลง
วรรคที่สองบอกว่า – ที่นั้นคือบนภูดอยที่ว่างไร้ยามราตรีในฤดูใบไม้ผลิ
วรรคที่สามบอกว่า – ครั้นดวงจันทร์ออกมาฉายส่องบนฟ้า ทำให้นกตกใจ (นึกว่าสว่างแล้ว)
วรรคที่สี่บอกว่า - นกจึงพากันร้องระงมเสียงก้องลำธารยามฤดูใบไม้ผลิ
ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วเห็นภาพสภาพแวดล้อมบนภูดอยในคืนที่เงียบสงัด ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศอบอุ่นสบาย ทันใดนั้นพระจันทร์ก้เจิดกระจ่างขึ้นมาทันทีทันใด เหล่านกภูดอยพากันตื่นร้องเสียงเจื้อยแจ้วดังก้องไปตามลำห้วย
อย่างนี้เอง ที่ปราชญ์จีนเขายกย่องนักกวีที่เขียนบทกวีได้เยี่ยมยอด และจิตรกรที่วาดภาพได้เยี่ยมยอดว่า
“ ในกวีมีภาพ 诗 中 有 画
ในภาพมีกวี 画 中 有 诗”
บทกวีของหวางเหว่ยแทบทุกบท เป็นตัวอย่างความสำเร็จของนักกวีที่เขียนบทกวีได้ถึงขั้น “ในกวีมีภาพ” นี่เป็นความสำเร็จขั้นที่หนึ่ง
ยังมีความสำเร็จของกวีขั้นที่สองอีก
นั่นคือ “สื่อสร้างจินตนาการได้ไม่จำกัด”
คุณลักษณะของบทกวีที่ต่างจากคำประพันธ์ประเภทอื่น ๆ ก็คือ “บทกวีใช้คำจำกัด สื่อสร้างจินตนาการไม่จำกัด”
อ่านบทกวีบทนี้แล้ว ผู้อ่านร้อยคนก็มีจินตนาการได้มากกว่าร้อยอย่าง เพราะคนอ่านก็อาจจะมีจินตนาการได้มากกว่าหนึ่งอย่าง
หวางเหว่ยนับเป็นนักกวีที่ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่สอง
ความสำเร็จขั้นที่สามของบมทกวี คือผู้อ่านบรรลุธรรม หรือตระหนักรู้ในเรื่องธรรมชาติของความเป็นมนุษย์
การตระหนักรู้ธรรมชาติของมนุษย์ มิใช่เรื่องของศาสนาพุทธนิกายเซนฝ่ายเดียว
ศาสนาอื่น ปรัชญาอื่น ๆ ก็อาจทำให้เข้าถึง ตระหนักรู้ธรรมชาติของมนุษย์ได้เช่นกัน
หวางเหว่ยนั้น นักประวัติศาสตร์มองว่า ท่านเป็น “กวีพุทธํ”
“กวีเต๋า” คือเถายวนหมิง
“กวีบู๊เฮี้ยบ” คือหลี่ไป๋
“กวีขงจื๊อ” คือ ตู้ฝู่
ในกวีบทข้างต้น สื่อคำสอน “เซน” ( ฌาน , หรือ ธฺยาน) ด้วย แม้จะตีความยากสำหรับผู้เริ่มศึกษา แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับจริตแบบเซนแล้ว ซึมซับเข้าใจไม่ยาก
สองวรรคแรก สื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตเรากับธรรมชาติ ความสงัดวิเวกของสภาพแวดล้อมบนภูดอยยามใบไม้ผลิ ดอกไม้ร่วงหล่นอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นฉากแสดงความเคลื่อนไหวในบรรยากาศที่สงบเงียบ อาจทำให้จิตใจเราตื่นรู้ เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในทันทีทันใดนั้น
เปรียบเหมือนพระจันทร์สาดส่องขึ้นอย่างฉับพลัน
ขอให้สังเกตนะครับ “หวางเหว่ย” ใช้คำว่า “พระจันทร์ออกมา”月 出 ถ้าใช้คำแค่เพียง “แสงจันทร์ 月 亮” บทกวีนี้จะจืดลงไปเยอะ คือไม่สื่อถึงการปรากฏขึ้นของพระจันทร์อย่างฉับพลันทันที
แสงสว่างของดวงเดือนทำให้นกตื่น !
นั่นคือการตระหนักรู้ บรรลุธรรมของจิตมนุษย์นั่นเอง

ตามรอยคึกฤทธิ์3:สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์(2)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (2)
เริ่มไว้ตั้งแต่สัปดาห์ก่อน คือเรื่องราวที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
เหตุมันเริ่มตั้งแต่ ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” เรียบเรียงโดย “มหาศิลป์ โหรพิชัย” ที่เพิ่งพิมพ์เสร็จเมื่อสักเดือนกว่า ๆ ในหนังสือเล่มนี้ “มหาศิลป์” นำเรื่องที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่เขียนไว้มาประกอบด้วย แต่ผมรู้สึกว่ายังนำมาไม่หมด ผมจึงค้นหาจนพบอีกบางบท ก็เลยนำมาเสนอในคอลัมน์นี้ไว้เป็นข้อมูลสำหรับท่านที่สนใจได้เก็บไว้ต่อไป
อ่านต่อจากฉบับวันก่อนได้เลยครับ
.................................
“จำได้ว่าในวันที่ประกาศตั้งท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระราชพิธีหนึ่งในพระบรมมหาราชวัง (จะเป็นเฉลิมพระชนมพรรษา หรือฉัตรมงคลก็จำไม่ได้เสียแล้ว เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีพระราชพิธีตั้งสมเด็จพระสังฆราชโดยเฉพาะ) เด็กลูกศิษย์วัดกลุ่มหนึ่งที่ตามพระราชาคณะเข้าไปในวัดได้จับกลุ่มนั่งคุยกันอยู่ข้างนอก
เด็กคนหนึ่งถามขึ้นว่า “สังฆราชองค์ใหม่นี้ชื่ออะไรโว้ย?”
ทันใดก็มีเสียงห้าว ๆ ตอบมาจากข้างหลังว่า “ชื่อชื่นโว้ย !”
งานพระราชพิธีเสร็จลงแล้ว สมเด็จฯท่านออกจากพระที่นั่ง เดินมาตามลูกศิษย์ของท่านจะกลับวัด บังเอิญมาได้ยินปุจฉาของเด็กเข้า ท่านก็เลยตอบให้
เพราะชื่อจริงของท่าน คือ ม.ร.ว ชื่น นพวงศ์
สมเด็จฯท่านเคยเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อท่านยังหนุ่ม ๆ อยู่ สอบเปรียญได้แล้วเป็นมหาชื่น ท่านก็อยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งขณะนั้นสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นเจ้าอาวาสอยู่
สมเด็จท่านเล่าว่า สมเด็จพระมหาสมณะทรงกวดขันท่านมาก ทำผิดอะไรเล็กน้อย หรือไม่พอพระทัยขึ้นมาเมื่อไร ก็เกรี้ยวกราดเอาแรง ๆ เสมอ ท่านเบื่อหน่ายขึ้นมาจึงกราบทูลสมเด็จพระมหาสมณะว่า ท่านจะขอลาสึก สมเด็จพระมหาสมณะได้ทรงฟังแล้วก็นิ่งอยู่ มิได้ตรัสว่ากระไร
ฝ่ายสมเด็จฯเมื่อกราบทูลไปแล้วก็ไปหาฤกษ์สึก แล้วก็ให้โยมไปเตรียมผ้านุ่งมาไว้หนึ่งผืน เสื้อราชปะแตนหนึ่งตัว อีกสองวันจะสึก
เย็นวันหนึ่งก่อนที่จะถึงฤกษ์สึก พระพุทธเจ้าหลวงปิยมหาราชเสด็จ ฯ มาที่วัดบวร ฯ เพื่อทรงเยี่ยมสมเด็จพระมหาสมณะ ครั้นแล้วก็เสด็จลงจากตำหนักสมเด็จพระมหาสมณะ ตรงมาที่กุฏิของท่าน
เสด็จ ฯ มาถึงแล้วก็ทรงยืนอยู่ที่หน้าประตูกุฏิมิได้เสด็จ ฯ เข้ามาข้างใน สมเด็จฯเล่าว่า พอเห็นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯมาที่กุฏิก็ตกใจแทบสิ้นสติ เพราะไม่เคยเสด็จ ฯ มาแต่ก่อน ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรถูก ก็นั่งรับเสด็จอยู่ในกุฏิ จะเชิญเสด็จฯเข้ามาก็พูดไม่ถูก
สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงรับสั่งว่า “ได้ยินว่าคุณจะสึกหรือ ?”
สมเด็จฯ ก็ถวายพระพรรับว่าจริง
มีกระแสรับสั่งต่อไปว่า “ฉันก็ไม่ว่าอะไรหรอก แต่อยากจะบอกให้รู้ว่า คนอย่างคุณนั้นบวชเป็นพระแล้วหายาก ถ้าสึกออกมาเป็นฆราวาสก็หาง่าย”
“กันก็เลยไม่สึก” สมเด็จฯท่านว่า “ท่านเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ท่านต้องรู้ดีกว่าเราว่าอะไรหายาก อะไรหาง่าย”
“แล้วยังไง” ผมถาม
“กันอยากเป็นคนหายากว่ะ” สมเด็จ ฯ ตอบ
“แล้วผ้านุ่งกับเสื้อราชปะแตนล่ะ ?”
“กันเลยให้พระยาเสนาสงครามน้องชายเขาไป”
สมเด็จท่านบวรตั้งแต่เป็นเณร และอยู่ในผ้าเหลืองมาจนสิ้นพระชนม์ วันดีคืนดีมียายชีคนหนึ่งมาเดินป้วนเปี้ยนอยู่แถวใต้ถุนกุฏิท่านที่วัดบวรฯ
ยายชีนั้นเรียกสมเด็จฯว่าเสด็จพ่อ
ผมก็ให้สงสัยเป็นกำลังอดรนทนไม่ไหวต้องขึ้นไปกราบทูลถามว่า
“ก็ไหนสมเด็จฯรับสั่งว่าบวชตั้งแต่เป็นเณร แล้วทำไมมีลูกสาวโต ๆ อย่างนี้เล่า ?”
“ชาติก่อนโว้ย” สมเด็จบอก “ยายชีแก่ระลึกชาติได้ แกบอกว่าชาติก่อนแกเป็นลูกสาวของเรา”
“แล้วสมเด็จเชื่อหรือ ?”
“ก็เรามันระลึกชาติไม่ได้ จะไปเถียงแกยังไง แต่มันมีแปลกอยู่นิดเดียวเท่านั้น แกบอกว่าชาติก่อนเราอยู่บ้านริมถนนทรงวาด”
“แล้วยังไง”
“ก็ไอ้ถนนทรงวาดนั่น เขาเพิ่งตัดเมื่อกันโตแล้วในชาตินี้นี่หว่า”
(สยามรัฐหน้า ๕ วันที่ 12 กันยายน 2511)

12 ธันวาคม 2552

ตามรอยคึกฤทธิ์ 2 : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์(1)

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (1)

ผมเคยแนะนำหนังสือดี เรียบเรียงโดย “มหาศิลป์ โหรพิชัย” เรื่อง “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์” ซึ่งเพิ่งออกวางตลาดมาประมาณเดือนหนึ่งแล้ว
วันก่อนบังเอิญพบท่านพี่ “มหาศิลป์” ที่ร้านสกายไฮน์ ข้างสยามรัฐ ก็เลยนั่งเสวนากันหลายชั่วโมง คุยกันถึงเรื่องที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าเรื่องสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ไว้ ผมก็เลยนำเสนอเสียเลยสามชิ้น ดังนี้
ชิ้นแรก อาจารย์หม่อม เขียนเรื่องที่ท่านไปตะโกนเรียกข้างหูจนสมเด็จฯ ท่านทรงฟื้นคืนความรู้สึกขึ้นมา
“ผมเองเคยมีประสบการณ์แปลกในเรื่องนี้
ครั้งหนึ่งได้รับข่าวว่า อุปัชฌาย์ของผมคือสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ กำลังจะสิ้นพระชนม์อยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผมก็รีบวางการงานทั้งหมดและรับไปที่นั่น
จะไปดูใจอาจารย์ ว่ายังงั้นเถิด
พอไปถึงก็เห็นท่านนอนเงียบหลับตาสนิท ชีพจรก็ไม่มี หมอบอกว่าท่านหายไปสิบแปดชั่วโมงแล้ว แต่ที่ยังรู้ว่าท่านยังไม่สิ้นพระชนม์ก็เพราะท่านยังอ่อนและยังอุ่นอยู่บ้าง
ตอนนั้นความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท และได้ทรงพระมหากรุณาเสด็จฯมาเยี่ยมพระอาการ และประทับอยู่ข้างนอกห้องประชวรแล้ว
หมอเอาเข็มฉีดยามาจิ้มที่แขนสมเด็จ ฯ แล้วทูลถามที่ข้างพระกรรณท่านด้วยเสียงธรรมดาว่า
“สมเด็จ พ่ะย่ะค่ะ ทรงรู้สึกเจ็บบ้างไหม”
หมอทำอยู่อย่างนั้นสองสามครั้ง ท่านก็นอนเฉย ผมจึงบอกว่าหมอว่า ถึงตอนนี้เข้าขั้นปรมัตถ์แล้ว อย่ามัวไปใช้มารยาทหรือราชาศัพท์กับท่านอยู่เลย ต่อกันไม่ถึงหรอก
ผมเอาเอง ถ้าไม่ฟื้นก็หมดทางกันละ
ว่าแล้วผมก็จับแขนท่านแรง ๆ แล้วตะโกนที่หูของท่านกึกก้องไปทั้งโรงพยาบาลว่า
“สมเด็จ ! สมเด็จ ! หายไปไหนนั่นน่ะ กลับมาก่อนเหอะ !ในหลวงเสด็จมาประทับอยู่นอกห้องแล้ว !”
ท่านก็ลืมตาขึ้นมาเห็นหน้าผม ท่านก็รับสั่งว่า
“เอ็งเสือกมาทำไมอีกล่ะ”
เพราะท่านทรงเมตตาผมมาก
ผมลงกราบรับพรท่าน แล้วท่านก็ลุกขึ้นนั่ง บอกพระที่อยู่ในห้องว่าอยากกินหมากสักคำ พระก็หัวเราะบอกว่าหายแล้ว และหาหมากมาถวาย
พอท่านทราบว่าพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ท่านก็ห่มผ้าเรียบร้อยและนั่งอยู่บนเตียง
เมื่อพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้ามา ท่านก็ถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัวด้วยเรื่องต่าง ๆ เป็นปกติ
อีกสองสามเดือนต่อมา ผมไปเฝ้าท่าน ทูลถามว่าวันนั้นท่านหายไปไหนมาตั้งสิบแปดชั่วโมง ชีพจรก็ไม่มี อะไรก็ไม่มี ท่านตอบว่า
“ตัวเป็นกับตัวตายมันเป็นเส้นสองเส้น มีขนาดเท่านิ้วก้อย เวลายังมีทุกข์อยู่มันก็อยู่ห่างกัน แต่ถ้าพอมันทับกันได้เป็นเส้นเดียวกันก็สิ้นทุกข์”
ผมบอกว่า เออ ! สมเด็จทำเหมือนกับเล็งกล้องถ่ายรูปไลก้า แล้วยังไง
ท่านตอบว่า “ของข้ามันกำลังจะทับกันเป็นเส้นเดียวดีอยู่แล้ว พอดีเอ็งมาร้องเอะอะ สิ้นสมาธิ เส้นมันก็เลยแตกจากกัน ข้าก็เลยเดือดร้อนมาจนถึงเดี๋ยวนี้
ผมก็ทูลว่า ไม่รู้นี่ว่าสมเด็จฯ กำลังจะหาโฟคัส สงสัยก็ตะโกนถามดู
ต่อมาอีกสองปี ผมได้ข่าวว่าท่านกำลังจะสิ้นพระชนม์อีก รับไปเฝ้า เห็นหมอเขาต่อสายไว้เต็มองค์ ดูไปเหมือนถังประปา ไม่ใช่สมเด็จอุปัชฌาย์ของผมเสียแล้ว
และผมก็รู้ว่าท่านตั้งโฟคัสของท่านให้เส้นทับกันเรียบร้อยแล้ว
ผมก็ไม่ตะโกนเรียกท่านอีก
เพราะถังประปาที่หมอต่อท่อไว้นั้น ถึงจะตะโกนเรียกก็คงไม่ขานรับ”
(สยามรัฐหน้า ๕ ฉบับวันที่ 11 กันยายน 2511)
...................................
ในคอลัมน์วันรุ่งขึ้น คือวันที่ 12 กันยายน 2511 อาจารย์หม่อมท่านก็เขียนถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ต่อไปดังนี้
“เมื่อวานได้เขียนถึงสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวัดบวรฯ คือกรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เข้าหน่อยหนึ่ง วันนี้มานึกดูเห็นยังมีเรื่องราวเกี่ยวกับสมเด็จฯองค์นั้นอีกมาก จึงคิดว่าควรจะเขียนลงไว้เท่าที่นึกออก และถ้านึกออกอีกในโอกาสต่อไป จะเขียนต่อไปอีก
สมเด็จฯท่านเป็นพระแท้ ถึงจะบริบูรณ์ด้วยสมณศักดิ์และลาภอดิเรกต่าง ๆ ตามฐานะของท่าน ซึ่งมีคนเคารพนับถือมากมาย ท่านก็มิได้ไยดีกับสิ่งเหล่านั้น”
( สยามรัฐหน้า ๕ ฉบับวันที่ 12 กันยายน 2511)

11 ธันวาคม 2552

ตามรอยคึกฤทธิ์ 1: เรื่องแปลก ๆ ของอดีตประมุขกัมพูชา

เรื่องแปลก ๆ ของอดีตประมุขกัมพูชา

ในช่วง พ.ศ ๒๕๐๖ ถึง ๒๕๐๘ การแสดงบทบาทในเวทีโลกของสมเด็จ นโรดม สีหนุ ออกจะเป็นเรื่องประหลาด ที่คนทั่วไปเข้าใจได้ยาก อย่างเช่นท่านลาออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ของราชอาณาจักรกัมพูชา ท่านสนิทชิดใกล้กับจีนแดง ท่านเขียนวิเคราะห์อนาคตว่า ประเทศเวียดนามจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ และประเทศกัมพูชาก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์แน่
เรื่องที่สมเด็จนโรดม สีหนุ วิเคราะห์ว่าประเทศกัมพูชาจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ท่านเขียนไว้เองในหนังสือพิมพ์ภาษาฝรั่งเศสของท่าน
พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนเล่าไว้ว่า (จากหนังสือ “สถานการณ์รอบบ้านเรา” เรื่อง “สีหนุคนป่วยของกัมพูชา”)
“...ปรากฏว่าท่านสีหนุได้เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ของท่านซึ่งออกเป็นภาษาฝรั่งเศส เป็นนิตยสารที่ออกในกัมพูชา เป็นบทความซึ่งท่านได้เขียนขึ้นเอง และในบทความนี้ท่านได้วิจารณ์การเมืองไปในทำนองทายทักโชคชาตาของประเทศต่าง ๆ ในอนาคต ประเทศที่ถูกท่านสีหนุทำนายก็คือประเทศเวียดนามเป็นประเทศแรก ท่านได้บอกว่าประเทศเวียดนามนั้นโชคชาตาไม่มีทางออกเสียแล้ว ในที่สุดก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งประเทศอย่างแน่นอน......
เมื่อท่านได้ทำนายโชคชาตาอนาคตของเวียดนามแล้ว ท่านก็ได้ทำนายประเทศของท่านเองด้วย ท่านบอกว่าประเทศเขมรของท่านเองนั้น ในที่สุดก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนกัน............
นี่เป็นความเห็นของท่านสีหนุ อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศเวียดนามใต้จะเป็นคอมมิวนิสต์หรือไม่นั้น ยังเป็นปัญหาที่เราจะต้องดูกันต่อไปก่อน สำหรับเวียดนามเหนือนั้นไม่เป็นปัญหาเพราะเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว เพราะฉะนั้นการทำนายทายทักโชคชาตาของเวียดนามเหนือนั้นใคร ๆ ก็ดูได้ เมื่อประเทศหนึ่งเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้วก็เป็นไป ส่วนเวียดนามใต้จะเป็นไปหรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องไม่แน่ แต่สำหรับประเทศกัมพูชาของท่านสีหนุเองนั้น เราก็เห็นจะต้องเชื่อถือท่านไว้ก่อน เพราะเหตุว่าเมื่อท่านดูชาตากัมพูชาว่า ต่อไปยังไง ๆ ก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์นั้น ท่านก็ต้องดูโดยมีหลักเกณฑ์อยู่บ้าง เพราะคนที่จะทำให้กัมพูชาเป็นคอมมิวนิสต์นั้นก็คือตัวท่านสีหนุเอง ซึ่งท่านเป็นผู้ปกครองกัมพูชาอยู่โดยเด็ดขาด แล้วท่านก็ได้ผูกมิตรทั้ง ๆ ที่ท่านได้เรียกตัวท่านเองว่าเป็นกลาง กับจีนแดงอย่างใกล้ชิด...............ทีแรกก็สงสัยว่าทำไมท่านสีหนุท่านได้ผูกมิตรกับจีนแดงมากมายอย่างนั้น เพราะท่านเองท่านไม่เคยรับว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ และมิหนำซ้ำฐานะของท่านก็ดี เบื้องหลังของท่านก็ดี ไม่น่าจะอำนวยให้ท่านไปรับลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ แต่เดี๋ยวนี้ก็เห็นจะพอทราบได้แล้ว คือท่านสีหนุท่านเป็นหมอดูที่เชื่อตำราจนเกินไป คือเมื่อดูไปดูมา เกิดไปดูโชคชาตาบ้านเมืองของท่านไป เห็นว่าจะต้องเป็นคอมมิวนิสต์แน่ ท่านก็เริ่มประจบคอมมิวนิสต์เพื่อเอาตัวรอด เพราะเหตุว่าถ้าหากเมืองกัมพูชาเป็นคอมมิวนิสต์ไปแล้ว ท่านก็คิดจะเกาะคอมมิวนิสต์กินอยู่ในกัมพูชานั้นเอง ท่านคงจะนึกว่าเมื่อประจบคอมมิวนิสต์ไว้ตั้งแต่บัดนี้ เมื่อต่อไปกัมพูชาตกอยู่ใต้อำนาจคอมมิวนิสต์ เขาก็คงจะเลี้ยงท่าน แล้วก็จะทำให้ท่านมีอำนาจวาสนามีความสุขสบายต่อไป........... นี่ผมก็เดาเอาอย่างนี้
รู้สึกว่า พฤติการณ์ของท่านสีหนุที่ท่านทำตนเป็นศัตรูกับเมืองไทยก็ดี ก็เพราะเหตุว่าไทยเราไม่เข้าข้างคอมมิวนิสต์ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าท่านเป็นมิตรกับไทยอยู่ ท่านก็กลัวว่าคอมมิวนิสต์เขาจะระแวงท่านได้ ท่านก็ตัดสัมพันธ์กับไทยเสีย และเมื่อเร็ว ๆ นี้ ท่านก็หาเหตุตัดสัมพันธไมตรีกับเวียดนามใต้เสียอีก โดยอ้างว่ารัฐบาลเวียดนามใต้ไม่เอื้อเฟื้อต่อพระพุทธศาสนาในเวียดนาม ท่านก็เลยถือเหตุตัดสัมพันธไมตรีเลย ก็เป็นอันว่าเพื่อนบ้านที่ขนาบข้างท่านอยู่ทั้งสองประเทศ คือไทยกับเวียดนามใต้นั้นไม่ได้เป็นพวกคอมมิวนิสต์โดยแน่นอน ถ้าท่านจะคบหาเป็นมิตรกันต่อไป เพื่อนของท่านที่อยู่เบื้องบนก็อาจจะดูท่านในแง่ที่ผิด หรือมิฉะนั้นก็อาจจะไม่วางใจไปว่า ก็ไหนว่ารักกับคอมมิวนิสต์ ทำไมมารักกับเวียดนามมารักกับไทยอยู่ได้........
ทั้งหมดนี้ ทีแรกผมก็งง ๆ เหมือนกัน ไม่ทราบว่าทำไม เพราะเหตุว่าดูเบื้องหลังท่าน ดูชาติกำเนิดของท่าน ดูตำแหน่งฐานะของท่าน นึกไม่ถึงว่าท่านจะเป็นคอมมิวนิสต์ไปได้ แต่บัดนี้ก็พอจะจับได้แล้วว่า ความจริงแล้วท่านสีหนุท่านก็ไม่ได้เป็นคอมมิวนิสต์ แต่ว่าท่านเป็นคนที่ออกจะมีเหตุผลมากอยู่ คือท่านมองความจริงออก เพราะเหตุว่าเวลานี้ ท่านมีฐานะที่จะปกครองประเทศกัมพูชา และนับตั้งแต่ท่านปกครองประเทศกัมพูชานั้น ก็ไม่ปรากฏว่ากัมพูชานั้นได้ดีขึ้นอย่างไรเลย ท่านก็พยายามทำอะไรต่ออะไรหลายอย่างที่จะทำให้บ้านเมืองเจริญขึ้น แต่ผลก็ไม่ปรากฏตามที่ท่านปรารถนา ก็เห็นจะเป็นเพราะท่านขาดความชำนาญ ขาดสรรถภาพในการปกครอง และอีกอย่างหนึ่งท่านทรงชอบที่จะปกครององค์เดียว คนอื่นมาช่วยท่านก็ไม่ยอม ไม่ยอมฟังเสียงใคร ไม่ยอมฟังความเห็นใคร บ้านเมืองมันก็เสื่อมโทรมลงเรื่อย ผู้คนก็ยากจนลง ทีนี้ท่านก็มีสติปัญญาพอที่จะทรงทราบได้ว่า บ้านเมืองที่มีความเสื่อมลง มีแต่ความยากจนลงนั้น ในที่สุดมันก็จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อท่านปกครองบ้านเมืองให้อยู่ในสภาพเช่นนั้น ท่านก็เลยใช้เหตุผลอนุมานต่อไปว่า ประเทศกัมพูชาของท่านนั้น อย่างไรก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์โดยแน่นอนไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เมื่อท่านคิดได้อย่างนั้นแล้วก็คงปลงตก คือไม่พยายามที่จะแก้ไขอะไรอีกต่อไป เท่ากับว่าบรรทมงอหัตถ์งอพระบาท รอให้กัมพูชาเป็นคอมมิวนิสต์อยู่ คือว่าไหน ๆ มันก็จะเป็นแล้ว ก็ปล่อยให้มันเป็นไป แต่ว่าสำหรับพระองค์เองนั้น ท่านก็ต้องวางแผนเพื่อที่จะเอาพระองค์ท่านเองรอด กล่าวคือต้องทำให้ตัวท่านเองอยู่ในฐานะที่คอมมิวนิสต์เขาไม่รังเกียจ เป็นต้นว่า เคยเป็นพระมหากษัตริย์อยู่ก็ลาออกมันเสีย ออกมาเป็นประมุขอะไรลอย ๆ อยู่ ถึงคอมมิวนิสต์เข้ามาก็พอจะอ้างได้ว่า ฉันไม่ใช่เจ้าไม่ใช่นาย ไม่ได้เป็นเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินอะไรนี่ ก็อย่างหนึ่งละ นอกจากนั้นก็สวดสรรเสริญคอมมิวนิสต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนแดงวันละสามเวลาอย่างที่เราได้ยินกันอยู่เสมอ ๆ ส่งลูกไปเรียนที่ปักกิ่ง คือว่าถ้าเผื่อคอมมิวนิสต์ไม่ชอบหน้าตัวเอง บางทีจะเอ็นดูลูกเอ็นดูเต้า ก็เห็นจะพออาศัยลูกเป็นตัวแทนหรือเป็นสื่อขอให้เขาละเว้นได้บ้าง และวิธีการอื่น ๆ ท่านก็อาจจะมีอีกมากซึ่งเราไม่รู้ได้ การที่ท่านได้เขียนลงหนังสือพิมพ์โดยเปิดเผยให้คนได้อ่านทั่วโลก ทำนายบ้านเมืองของท่านเองว่า จะต้องเป็นคอมมิวนิสต์อย่างแน่นอนนั้น ก็เห็นจะแปลว่าท่านเองก็หมดห่วงแล้ว ”
( ๒๖ กันยายน ๒๕๐๖)

10 ธันวาคม 2552

ประชาธิปไตยไม่มั่นคง ถ้าพลเมืองไม่มีขันติธรรม

ประชาธิปไตยไม่มั่นคง
ถ้าพลเมืองไม่มี “ขันติธรรม”
“คึกฤทธิ์ ปราโมช” เคยวิจารณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยว่า
“ตามประวัติศาสตร์ของโลก ก็ไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศใดที่เป็นประชาธิปไตยได้ภายในร้อยปี”
ประชาธิปไตยไทยอายุ 77 ปี มาได้แค่นี้....ก็ดีแล้ว
คิดอย่างนี้แล้วทำให้ปลงตก !
พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ท่านเขียนไว้ในหนังสือ “ฉากญี่ปุ่น” (เขียนเมื่อพ.ศ 2504) ดังนี้ครับ
“สำหรับการเมืองภายในของญี่ปุ่นนั้น ก็ว่ากันว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ใจของผมเองเห็นว่าไม่ได้เป็นประชาธิปไตยอะไรหนักหนานัก ยังมีธุอื่น ๆ เจือปนอยู่ในระบอบการปกครองของญี่ปุ่นอีกมาก ถ้าจะเปรียบกับประเทศต่าง ๆ ของฝรั่งที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังห่างไกลประชาธิปไตยอยู่มาก เพราะญี่ปุ่นเพิ่งจะรับรู้การปกครองระบอบประชาธิปไตยมายังไม่ถึงร้อยปี และ ตามประวัติของโลกก็ไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศใดที่เป็นประชาธิปไตยได้ภายในร้อยปี เพราะประชาธิปไตยนั้นมิได้อยู่ที่เครื่องมือต่าง ๆ แห่งระบอบประชาธิปไตย เช่น รัฐสภาและการเลือกตั้งเท่านั้น แต่อยู่ที่จิตใจของคนทั้งประเทศเป็นสำคัญ
ลัทธิประชาธิปไตยคือลัทธิแห่งขันติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้แก่ความอดทนในความคิดเห็นของผู้อื่นที่ไม่ตรงต่อความคิดเห็นของตน เสรีภาพต่าง ๆ นั้นอาจมีได้ในระบอบการปกครองแทบทุกชนิด แม้ในระบอบการปกครองแบบที่เด็ดขาดที่สุด แต่ประเทศใดที่ผู้คนยังขาด ‘ขันติธรรม’ แล้ว ประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นได้ยากที่สุด หรือพูดง่าย ๆ ว่าไม่ได้เลย ประชาธิปไตยนั้นต้องมีแพ้มีชนะในทางการมเอง หากผู้แพ้ขาดขันติธรรมอดทนต่อการพ่ายแพ้ไม่ได้ ประชาธิปไตยก้ไม่เกิด หรือหากผู้ชนะนั้นจาดขันติธรรมอดทนต่อชัยชนะรวมทั้งอำนาจวาสนาซึ่งจะติดตามมานั้นไม่ได้ ประชาธิปไตยก็จะยังไม่เกิดเช่นเดียวกัน
พิจารณาเหตุการณ์ทางการเมืองของญี่ปุ่นทุกวันนี้แล้ว ก็จะเห็นว่าญี่ปุ่นยังขาดขันติธรรมอยู่เป็นอย่างยิ่ง นับตั้งแต่เสร็จสงครามเป็นต้นมา พรรคการเมืองฝ่ายขวาเป็นผู้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทุกครั้ง แสดงว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นส่วนมากยังนิยมในความคิดเห็นทางการเมืองของพรรคฝ่ายขวา พรรคฝ่ายซ้ายคือพรรคโซเชียลลิสต์ของญี่ปุ่นนั้นแพ้เลือกตั้งทุกครั้งตลอดมา เป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมจากชนส่วนน้อย แต่ความวุ่นวายต่าง ๆ ขนาดเข้าขั้นจลาจลในเมืองญี่ปุ่นนั้นเกิดจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายทั้งสิ้น การเดินขบวนประท้วงรัฐบาลอย่างรุนแรง การต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตามถนนหนทางตลอดจนการชกต่อยกันในรัฐสภาเป็นเรื่องที่พรรคฝ่ายซ้ายเป็นผู้ทำขึ้น เพราะพรรคฝ่ายซ้ายซึ่งเป็นผู้แพ้ในการเลือกตั้งนั้นขาดขันติธรรม แพ้เลือกตั้งแต่คนไม่แพ้ จึงก่อความรุนแรงวุ่นวายขึ้นต่าง ๆ เวรนั้นย่อมก่อเวรตอบเป็นหลักธรรมดา เมื่อฝ่ายหนึ่งใช้ความรุนแรงขึ้นมา อีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมจะรุนแรงตอบ หัวหน้าพรรคโซเชียลลิสต์ญี่ปุ่นถูกนักเรียนวัยรุ่นซึ่งมีหัวการเมืองเป็นขวาจัด วิ่งเข้าไปแทงตายกลางเวทีขณะกำลังปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งต่อหน้าประชาชนนับหมื่น การก้าวหน้าในทางลัทธิความคิดเห็นทางการเมืองอย่างรุนแรงนั้น ย่อมเกิดปฏิกิริยาอย่างรุนแรงหรือการถอยหลังอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน
ลัทธิการเมืองขวาจัดและชาตินิยมอย่างรุนแรงเคยมีอยู่ในญี่ปุ่นเมื่อก่อนสงคราม เมื่อเสร็จสงครามแล้วก็สลบไป แต่ขณะนี้เริ่มจะกลับมีชีวิตและเพิ่มความรุนแรงขึ้นใหม่ มิใช่เพราะตนเองแต่เพราะฝ่ายซ้ายเป็นเหตุ ตำรวจญี่ปุ่นเมื่อก่อนสงครามนั้นเคยบังคับบัญชาประชาชนราวนายกับบ่าว ถึงกับตบตีเอาได้กลางถนนหนทาง ประชาชนก็เคยกลัวเกรง เสร็จสงครามแล้วตำรวจญี่ปุ่นได้ปฏิวัติตนเองให้เป็นตำรวจประชาธิปไตย รักษาความสงบด้วยกิริยาวาจาอันสุภาพ ไม่ใช้อำนาจ แต่ก็ถูกพวกเดินขบวนหรือก่อการจลาจลฝ่ายซ้ายเข้ารุกรานเอาบ่อย ๆ ตำรวจญี่ปุ่นก็จำต้องเริ่มรุนแรงบ้าง และเมื่อเริ่มรุนแรงเข้าแล้ว อีกหน่อยก็อาจจะกลับไปใช้อำนาจอย่างเดิม ถึงอย่างไรพรรคากรเมืองฝ่ายขวาก็เป็นรัฐบาล และตำรวจก็เป็นเจ้าหน้าที่รัฐบาล เมื่อทั้งสองฝ่ายนี้รุนแรงขาดขันติธรรมขึ้นมาแล้ว ประชาธิปไตยก็จะต้องถอยไปไกล
ที่ผมพูดมาทั้งหมดนี้ เป็นสภาพการเมืองของญี่ปุ่น แต่ดู ๆ ไปแล้ก็เห็นว่าเป็นจริงในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียหลายประเทศ ในเมืองฝรั่งที่เขาเป้นประชาธิปไตยยั้ย เขาปล่อยเสรีให้เป็นคอมมิวนสิต์กันก็ได้ ไม่มีใครเดือดร้อน เพราะทุกฝ่ายรวมทั้งคอมมิวนิสต์เองนั้นด้วย มีขันติธรรมเข้าหากัน แต่ในประเทศแถบเรานี้ปล่อยเข้าก็จะต้องวุ่นวาย เพราะความขาดขันติธรรมของชยส่วนน้อยดั่งที่เป็นในประเทศญี่ปุ่น ทางไปสู่ประชาธิปไตยนั้นจะมีมาได้อย่างไรเป็นเรื่องเกินปัญญาผมที่จะนึกได้”
ประชาธิปไตยไทยกำลังตกอยู่ในอันตราย เพราะผู้คนจำนวนไม่น้อย ละทิ้ง “โลกปาลธรรม” อันได้แก่ หิริโอตตัปปะ -ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป
ความวุ่นวายจลาจลอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าผู้คนขาด “ขันติธรรม”
ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ผู้คนต้องมีธรรม
ถ้าปราศจากธรรม ประชาธิปไตยก็พัง

8 ธันวาคม 2552

บทความการเมือง

ไทย-มาเลเซีย อยู่บนเรือลำเดียวกัน

สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้นดีมาโดยตลอด ถึงบางครั้งจะมีปัญหาบ้างก็นับเป็นปัญหาเล็กน้อย
นับตั้งแต่ชาวมลายูต่อสู้เพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ คนไทยก้ได้เคยช่วยเหลือผู้นำของมลายู เช่น ตนกู อับดุล ราห์มัน มาเสมอ ท่านผู้นี้ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย
ในช่วงที่ประเทศมลายา , อินโดนีเซีย , ฟิลิปปินส์ ได้รับเอกราชกันใหม่ ๆ เกิดแนวคิดการรวมประเทศเป็นประเทศมาฟิลโด แต่แล้วสามประเทศนี้ก็เกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องดินแดนซาบาห์ , ซาราวัค บนเกาะบอร์เนียว และเกิดกรณีการแยกตัวเป็นประเทศสิงคโปร์ ฯ

ในช่วงนั้นประเทศไทยนับว่าประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญอยู่ไม่น้อย โดยเป็นตัวกลางจัดการพบปะคลี่คลายปัญหา มิให้ความขัดแย้งบานปลายขยายความรุนแรงขึ้น จนในที่สุดก็ได้เกิดสมาคมอาสาอันเป็นสมาคมระหว่างประเทศเอเชียอาคเนย์ ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นสมาคมอาเซียน นี่นับเป็นคุณูปการส่วนหนึ่งของประเทศไทยต่อกลุ่มประเทศอาเซียน

ในวันที่ 8 ธันวาคม มีการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย และมีการประชุมหารือประจำปีของสองประเทศนี้ และในวันที่ 9 ธันวาคม สองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจร่วมกันที่จังหวัดนราธิวาสด้วย

มองในแง่ยุทธศาสตร์ร่วม ประเทศไทยกับประเทสมาเลเซียนับว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน ภารกิจหลายด้าน เป็นต้นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน หรือแม้กระทั่งเรื่องการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนปัตตานี ก็นับว่าทั้งสองประเทศมีชะตากรรมร่วมกัน

อาจจะมีชาวไทยบางส่วน เข้าใจผิดเพราะรับข่าวสารที่ผิดว่า รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้

รัฐบาลมาเลเซียมิเพียงไม่สนับสนุนแนวคิดเหล่านั้นเท่านั้น แต่ควรจะความเติบโตของแนวคิดเหล่านั้นด้วย เพราะการเคลื่อนไหวนั้นจะเป็นพิษภัยต่อสังคมมาเลเซียเองด้วย

พรรคอัมโน พรรคการเมืองสำคัญของมาเลเซียในทางด้านศาสนาอิสลามนั้นเดินทางสายกลาง ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่มีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ในรัฐกลันตันนั้น นิยมแนวทางสุดโต่ง ซึ่งในทางการเมืองย่อมจะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเคลื่อนไหวแยกดินแดนปัตตานี และถ้าหากชนะการเลือกตั้ง ได้กุมอำนาจรัฐในรัฐอื่น ๆ มากขึ้น ก็น่ากลัวว่าอาจจะปลุกกระแสความขัดแย้งทางเชื้อชาติขึ้นได้ในสังคมมาเลเซีย

มาเลเซียมีบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วจากการขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา รัฐบาลเขาย่อมมีความรอบคอบระมัดระวัง ไทยควรจะเปิดใจรับฟังคำแนะนำของเขาอย่างจริงจัง

เพราะปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ไทย ก็คือปัญหาที่คุกคามความสงบสุขของสังคมมาเลเซียด้วยเช่นกัน




ถวายพระพร


๐ เชิญคุณพระไตรรัตน์

อวยสวัสดิ์พระบารมี

พระเกียรติเกริกไกรทวี

เฉลิมชนม์ชั่วกาลนาน ๐



ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม

ข้าพระพุทธเจ้า นายทองแถม นาถจำนง



๐ กวีวัจน์ใดเลยจะสื่อสาร

ออกเอ่ยขานแทนใจคนไทยได้

ด้วยรักภักดิ์เทิดทูนทั้งดวงใจ

ชีวิตถวายในหลวงของปวงชน๐



ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อม ขอเดชะ

ข้าพระพุทธเจ้านายทองแถม นาถจำนง