16 ธันวาคม 2552

ตามรอยคึกฤทธิ์ 7 : สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (5)

ฉบับที่แล้วเล่ามาถึงตอนที่ อาจารย์หม่อมท่านทอดด้วงโสน ไปถวายสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ขอให้ฉันอาหารที่พ่อ-แม่ ของท่านอาจารย์หม่อมชอบกิน เพื่อที่จะอุทิศส่วนกุศลไปถึงพ่อแม่แต่พอถึง “ด้วงโสน” ซึ่งเป็นหนอน ท่านสมเด็จพระสังฆราชเจ้า ฯ ท่านรับไม่ไหวแล้ว
อาจารย์หม่อมท่านเขียนเล่าว่า
..................
“พอเปิดฝายื่นชามเข้าไป จะประเคน ท่านมองดูด้วงในชาม แล้วท่านก็หดมือ ถามว่า
“นี่อะไร ? ”
“ด้วงโสน” ผมว่า
“ไม่กินว่ะ ใครจะไปกินหนอน”
“เอาหน่อยน่า แม่ชอบกิน” ผมออด
“วันนี้ ไปรษณีย์ปิดโว้ย” สมเด็จฯท่านว่า “กันกินไม่เป็น เห็นเข้าก็คลื่นไส้ ใครจะไปกินลง”
“แล้วจะทำยังไงดีล่ะ” ผมถาม
“เอ็งกินเข้าไปเองก็แล้วกัน”
“มันก็ไม่ถึงแม่นะซี” ผมเถียง
“นั่นแหละ ดีกว่าอะไรทั้งหมด “ สมเด็จฯ ท่านว่า “พ่อแม่นั้นรักลูกยิ่งกว่าอะไรทั้งนั้น พ่อแม่ยอมอดเพื่อให้ลูกได้กิน ถ้าแม่เอ็งรู้ว่าเอ็งได้กินสิ่งที่เขาชอบ เขาก็คงดีใจมาก ทำให้พ่อแม่ได้ยินดี มีความสุขใจนั้น เป็นบุญหนักหนาอยู่แล้ว”

ผมเอาฝาชามปิดด้วงโสน แล้วถอนออกมาวางไว้ห่าง
ก้มลงกราบสมเด็จฯ น้ำตากลบลูกตา
ตั้งแต่เกิดมาเป็นตัว ไม่เคยได้กินด้วงโสนอะไรอร่อยเท่าวันนั้น
สมเด็จฯท่านบวชตั้งแต่เป็นเณร ถึงนาน ๆ จะมีลูกสาว มาเดินอยู่ในวัด ก็เป็นเรื่องเรื้อรังมาจากชาติก่อน ชาตินี้ท่านไม่เคยมีลูก
แต่ท่านพูดเพียงคำสองคำ อย่างไรบ้างก็ไม่รู้ คำพูดของท่านมาเปิดหัวใจผม ทำให้แลเห็นความรักของพ่อแม่ได้โดยตลอดทุกแง่ทุกมุม
อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน
ต่อมา ได้มีลูกของตัวเองเข้า ก็ยิ่งคิดถึงพระคุณท่าน เพราะท่านว่าไว้จริงเสียยิ่งกว่าจริง
คนที่อ่านเรื่องสมเด็จฯ นี้อาจนึกตำหนิว่า ใช้ราชาศัพท์บกพร่อง
เพราะสมเด็จฯ ท่านเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ควรจะใช้ราชาศัพท์อย่างเจ้าต่างกรมตลอด
แต่ผมเขียนไปอย่างที่รู้ว่า สมเด็จฯ ท่านชอบ
ครั้งหนึ่ง ผมนั่งอยู่ในกุฏิสมเด็จฯ ได้ยินเสียงท่านคุยกับ หม่อมเจ้า ที่ยังทรงพระเยาว์องค์หนึ่ง ในอีกห้องหนึ่ง
หม่อมเจ้าองค์นั้น รับสั่งว่า
“งานวันเกิด....เอ๊ย ! วันประสูติสมเด็จ ฯ นั้นจะมีอะไรกันบ้าง”
“วันเกิดก็ดีแล้ว” สมเด็จท่านว่า “ ประสูติแปลว่าไหลออกมา อะไร ๆ มันก็ไหลออกมาได้ แต่มันเกิดเป็นคนละเรื่อง เรียกว่าวันเกิดดีกว่า เกิดมาแล้วก็มีแต่ทุกข์ เขาฉลอง...วันเกิดกันทำไมก็ไม่รู้ ไปรับสั่งถามคนอื่นเขาดูเถิด อาตมาไม่รู้”
( “สยามรัฐหน้า ๕” ฉบับวันที่ 13 กันยายน 2511)