8 ธันวาคม 2552

บทความการเมือง

ไทย-มาเลเซีย อยู่บนเรือลำเดียวกัน

สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับมาเลเซียนั้นดีมาโดยตลอด ถึงบางครั้งจะมีปัญหาบ้างก็นับเป็นปัญหาเล็กน้อย
นับตั้งแต่ชาวมลายูต่อสู้เพื่อปลดแอกจากเจ้าอาณานิคมอังกฤษ คนไทยก้ได้เคยช่วยเหลือผู้นำของมลายู เช่น ตนกู อับดุล ราห์มัน มาเสมอ ท่านผู้นี้ต่อมาได้ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย
ในช่วงที่ประเทศมลายา , อินโดนีเซีย , ฟิลิปปินส์ ได้รับเอกราชกันใหม่ ๆ เกิดแนวคิดการรวมประเทศเป็นประเทศมาฟิลโด แต่แล้วสามประเทศนี้ก็เกิดกรณีพิพาทกันเกี่ยวกับเรื่องดินแดนซาบาห์ , ซาราวัค บนเกาะบอร์เนียว และเกิดกรณีการแยกตัวเป็นประเทศสิงคโปร์ ฯ

ในช่วงนั้นประเทศไทยนับว่าประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญอยู่ไม่น้อย โดยเป็นตัวกลางจัดการพบปะคลี่คลายปัญหา มิให้ความขัดแย้งบานปลายขยายความรุนแรงขึ้น จนในที่สุดก็ได้เกิดสมาคมอาสาอันเป็นสมาคมระหว่างประเทศเอเชียอาคเนย์ ซึ่งต่อมาพัฒนาขึ้นเป็นสมาคมอาเซียน นี่นับเป็นคุณูปการส่วนหนึ่งของประเทศไทยต่อกลุ่มประเทศอาเซียน

ในวันที่ 8 ธันวาคม มีการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและมาเลเซีย และมีการประชุมหารือประจำปีของสองประเทศนี้ และในวันที่ 9 ธันวาคม สองนายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปปฏิบัติภารกิจร่วมกันที่จังหวัดนราธิวาสด้วย

มองในแง่ยุทธศาสตร์ร่วม ประเทศไทยกับประเทสมาเลเซียนับว่าอยู่ในเรือลำเดียวกัน ภารกิจหลายด้าน เป็นต้นว่า การพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน หรือแม้กระทั่งเรื่องการต่อสู้เพื่อแยกดินแดนปัตตานี ก็นับว่าทั้งสองประเทศมีชะตากรรมร่วมกัน

อาจจะมีชาวไทยบางส่วน เข้าใจผิดเพราะรับข่าวสารที่ผิดว่า รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนการเคลื่อนไหวแบ่งแยกดินแดนของกลุ่มก่อการร้ายในสามจังหวัดภาคใต้

รัฐบาลมาเลเซียมิเพียงไม่สนับสนุนแนวคิดเหล่านั้นเท่านั้น แต่ควรจะความเติบโตของแนวคิดเหล่านั้นด้วย เพราะการเคลื่อนไหวนั้นจะเป็นพิษภัยต่อสังคมมาเลเซียเองด้วย

พรรคอัมโน พรรคการเมืองสำคัญของมาเลเซียในทางด้านศาสนาอิสลามนั้นเดินทางสายกลาง ส่วนพรรคฝ่ายค้านที่มีฐานที่มั่นใหญ่อยู่ในรัฐกลันตันนั้น นิยมแนวทางสุดโต่ง ซึ่งในทางการเมืองย่อมจะเป็นพันธมิตรกับกลุ่มเคลื่อนไหวแยกดินแดนปัตตานี และถ้าหากชนะการเลือกตั้ง ได้กุมอำนาจรัฐในรัฐอื่น ๆ มากขึ้น ก็น่ากลัวว่าอาจจะปลุกกระแสความขัดแย้งทางเชื้อชาติขึ้นได้ในสังคมมาเลเซีย

มาเลเซียมีบทเรียนที่เจ็บปวดมาแล้วจากการขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนา รัฐบาลเขาย่อมมีความรอบคอบระมัดระวัง ไทยควรจะเปิดใจรับฟังคำแนะนำของเขาอย่างจริงจัง

เพราะปัญหาในสามจังหวัดภาคใต้ไทย ก็คือปัญหาที่คุกคามความสงบสุขของสังคมมาเลเซียด้วยเช่นกัน