17 ธันวาคม 2552

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ (6)

อาจารย์หม่อม เขียนเรื่องสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ต่ออีกในคอลัมน์ “สยามรัฐหน้า๕” ฉบับวันที่ 14 กันยายน 2511 ดังต่อไปนี้

“ยังมีเรื่องที่เกี่ยวกับปฏิภาณของสมเด็จฯวัดบวรฯ อีกเรื่องหนึ่งซึ่งน่าจะนำมาเขียนเก็บรวบรวมเอาไว้ในที่นี้ด้วย

ประมาณ สักสามทสิบปีมาแล้วเห็นจะได้ มีพระภิกษุรูปหนึ่งเขียนหนังสือไปถึงเจ้านายองค์หนึ่งที่ทรงดำรงตำแหน่งสูง อยู่ในวงการรัฐบาล หนังสือนั้นตำหนิติเตียนเจ้านายองค์นั้นต่าง ๆ และลงท้ายด้วยการแช่งชักให้เจ้านายองค์นั้นมีอันเป็นไปต่าง ๆ อีกด้วย

ท่านผู้ที่ถูกแช่ง จึงส่งหนังสือนั้นมาถวายสมเด็จฯ พร้อมกับขอให้จัดการกับพระภิกษุรูปนั้น



สมเด็จฯ ได้รับหนังสือแล้ว ก็ให้เชิญเสด็จท่านผู้ถูกแช่งมาเฝ้าที่วัด ท่านผู้นั้นก็มาเฝ้า

เมื่อสมเด็จฯ ได้ปฏิสันถารเป็นอันดีแล้ว สมเด็จฯ ก็ถามขึ้นว่า

“ที่ท่านทรงขอมาจะให้จัดการกับพระที่มีหนังสือไปแช่งท่านนั้น ท่านมีประสงค์จะให้อาตมาภาพทำอย่างไร”

ท่าน ผู้นั้นก็ทูลตอบว่า ท่านมิได้มีพระประสงค์จะให้ลงโทษพระ เพราะจะเป็นบาปกรรม แต่มีพระประสงค์เพียงจะให้สมเด็จฯว่ากล่าวตักเตือนพระรูปนั้นพอหลาบจำ ไม่ทำเช่นนั้นอีกต่อไปเท่านั้น

สมเด็จฯก้ถามต่อไปว่า

“การที่ผู้ที่อยู่ในสมณเพศกล่าวคำแช่งชักท่านให้ประสบภัยพิบัติและอัปมงคลต่าง ๆ นั้น ท่านเชื่อหรือไม่ว่าจะบังเกิดผลตามที่แช่ง”

ท่านผู้นั้นก็ตอบว่าไม่เชื่อ

สมเด็จฯจึงรับสั่งว่า

“เมื่อ ไม่ทรงเชื่อแล้วก็ไม่น่าจะต้องทรงเดือดร้อน น่าจะระงับเรื่องเสียได้เพียงแค่นี้ อย่าให้อาตมาภาพต้องไปว่ากล่าวตักเตือนพระรูปนั้นท่านเลย เพราะถ้าหากไปว่ากล่าว ดีไม่ดีท่านก้อาจจะแช่งอาตมาภาพเข้าบ้าง ถ้าเป็นเช่นนั้นอาตมาภาพจะลำบากมาก เพราะผู้มีศีลแช่งนั้นอาตมาภาพเชื่อ จึงขอบิณฑบาตเสียเถิด อย่าให้ต้องไปทำให้ท่านแช่งอาตมาภาพเข้าด้วยเลย”

เรื่องก็เลยระงับลงแค่นั้น

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับพระนครจากประเทสสวิสเซอรืแลนด์ หลังจากที่ได้เสด็จฯไปศึกษาต่ออีกครั้งหนึ่งนั้น ประชาชนหลั่งไหลไปรับเสด็จฯเนืองแน่นทุกถนนหนทาง ตั้งแต่ดอนเมืองไปจนถึงพระบรมมหาราชวัง

ตามหลายกำหนดการนั้น จะต้องเสด็จไปทรงบูชาพระรัตนตรัยที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงศีลและรับอดิเรกจากพระสงฆ์ที่นั่น

สมเด็จฯก็เข้าไปรอรับเสด็จฯพระเจ้าอยู่หัวในพระอุโบสถนั้น

เมื่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯเข้าไปมีพระราชปฏิสันถารกับสมเด็จฯ เจ้าพนักงานจะลืมปิดไมโครโฟนหรืออย่างไรไม่ทราบ แต่มีเสียงสมเด็จฯออกอากาศทางวิทยุ ได้ยินกันทั้งเมืองว่า

“ราษฎรเขา มาคอยเฝ้าฯกันตามถนนหนทางมากมาย เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจไปคอยกันเขาไม่ให้เข้าใกล้ได้แลเห็นพระองค์ เขาเสียใจ เขาเสียใจกันมาก ในเมืองไทยเรานี้พระเจ้าแผ่นดินกับราษฎรไม่เป็นภัยต่อกันเลย ขอให้ทรงจำไว้ ราษฎรไม่เป็นภัยต่อพระองค์เลย....”

แล้วเสียงสมเด็จฯก้เงียบหายไป ชะรอยใครจะปิดไมโครโฟนตรงหน้าท่าน ซึ่งขณะที่ท่านถวายพระพรพระเจ้าอยู่หัว ทานก็คงไม่ทราบว่าไมโครโฟนนั้นเปิดอยู่

กาลเวลาได้ล่วงเลยมานาน ได้พิสูจน์ให้เห็นประจักษ์แล้วว่าสมเด็จฯท่านพูดถูก พูดตรงและพูดจริง

และ ก็ไม่เคยมีปรากฏในยุคใดสมัยใดเลยว่า ราษฎรได้เข้าเฝ้าใกล้ชิดพระเจ้าแผ่นดินของเขาด้วยความรักและความสัมพันธ์อัน แน่นแฟ้นปราศจากภัยโดยสิ้นเชิงอย่างในยุคนี้สมัยนี้.............

สมเด็จฯ ท่านก็แบบนั้น ท่านไม่ไยดีต่อตำแหน่งอันสูงของท่านเสียจนบางทีท่านก็ลืม

ท่าน เสด็จไปงานที่ลพบุรีในงานทำบุญที่วัดหนึ่ง ชาวบ้านที่เขามาทำบุญเขาเห้นท่านเขาก้เรียกว่าหลวงตา ท่านก็รับเอกรับคะ คุยกับเขาได้ทั้งวันสบายอกสบายใจมาก

บางวันสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก้หายไปจากวัดบวรฯ เจ้าคุณฐานานุรูปวิ่งหากันวุ่น ถามใครก็ไม่มีใครรู้ จะว่าเสด็จออกจากวัดก็ไม่เห็นมีรถหลวงประจำตำแหน่งสังฆราชมารับ

แต่พอ ราว ๆ เที่ยงเศษ ท่านก็ถือตาลปัตรเดินกลับมาเอง เพราะท่านรับนิมนต์ชาวบ้านเขาไว้ ไปสวดมนต์และฉันเพลตามห้องแถวเล็ก ๆ แถวเสาชิงช้าหรือบางลำพู

เลขานุการประจำพระองค์ก็มักจะไม่รู้ เพราะใครมานิมนต์ท่าน ๆ ก็จด ๆ เอาไว้ตามเศษกระดาษบ้าง ห่อใบชาบ้าง ตามแต่อะไรจะอยู่ใกล้มือ

สมเด็จท่านเป็นคนขี้ร้อน กลางวันร้อนหนักเข้าก็ลงนอนหงายกางแขนบนพื้นกระดานบนกุฏิของท่าน ไม่เห็นท่านใช้พัดลมหรือพัดอะไรทั้งนั้น

วันหนึ่งผมมีธุระต้องขึ้นเฝ้า เห็นท่านนอนแผ่อยู่ก็ลงกราบเบื้องหลังพระบาทท่าน แล้วลุกขึ้นนั่งประนมมือทูลว่า

“วันนี้เป็นบุญตา เคยได้ยินคำพังเพยมาหนักแล้ว เพิ่งได้เห็นจริง ๆ วันนี้”

“คำพังเพยว่ายังไง” สมเด็จฯ ถาม

“แผ่สังฆราช” ผมทูล

สมเด็จฯ ท่านลุกขึ้นนั่งงง ๆ อยู่ นาน เพราะท่านนึกไม่ออกว่าผมหมายถึงใคร จนผมต้องทูลเตือนท่านจึงจับความได้ว่า ท่านเองคือสังฆราชที่แผ่อยู่กลางห้อง

จับความได้แล้วท่านก็หัวร่อกลิ้งไป จะขันผมหรือขันองค์เอง ผมก็ไม่ทราบ”