ตามบ้านคนไทยเชื้อสายจีน มักจะมีศาลเจ้าที่ทาสีแดง ๆ ตั้งอยู่บนพื้นภายในบ้านพักอาศัย ภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วเรียกว่า "ตี้จู่เอี้ย" แปลว่าเจ้าที่ดิน ถ้าจะเปรียบให้เข้าใจง่าย ๆ (แต่โดยนัยอาจจะมีความแตกต่างกันบ้าง)ก็คือ "พระภูมิเจ้าที่" แบบศาลพระภูมิของคนไทยเชื้อสายไทยนั่นเอง
คนเรามักนิยมไหว้พระไกล บ้าน ใครเขาบอกมีพระดีที่ไหน มีเทพศักดิ์สิทธิ์ที่ไหน ๆ ถึงจะไกล ก็ยังดั้นด้นไป แต่แล้วกลับลืม “พระในบ้าน”
“พ่อ-แม่” คือพระในบ้าน อยู่ใกล้ตัวเราที่สุด กราบไหว้ดูแลท่านอย่างดีที่สุด เกิดมงคลแก่ตนและครอบครัว
เมื่อ เรารู้จักรักเคารพ รับใช้ ดูแล พ่อแม่ของเรา จิตใจของเราย่อมจะอ่อนโยน รู้จักรักเพื่อนบ้าน รักคนอื่น ๆ นี่แหละครับเกิดมงคล ทำดีได้ดีแล้ว เพียงแต่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าตน “ได้ดี” แล้ว กลับนึกว่า ทำไมไม่ร่ำรวยเหมือนคนบ้านโน้น.....
“ไฉเสิน – ทรัพยเทพ” ทางจีนก็เช่นกัน ทรัพยเทพองค์สำคัญที่สุด ในความเห้นของผม ก็อยู่ภายในบ้านของเราเอง นั่นคือ “ตี้จู่เอี้ย” ศาลพระภูมิเจ้าที่แบบจีนที่ตั้งอยู่กับพื้นนั่นเอง
บ้านที่มีเชื้อสาย จีนจะคุ้นเคยกับศาล “ตี้จู่เอี้ย”ดี รูปร่างก็เหมือนกับที่ท่านมองดูศาลเจ้าจากหน้าประตูภายนอก ทาสีแดงแปร้ด !และไม่มีรูปองค์เทพ
อย่างไรก็ตาม เดี๋ยวนี้นักธุรกิจชาวฮ่องกงนิยมบูชาตี้จู่เอี้ยเป็นพิเศษ ห้างร้านตั้งศาลไว้หน้าร้านเลย และมีรูปองค์ทรัพยเทพด้วยเรียกว่า “ทรัพยเทพเจ้าที่” 地 基 财 神
พระภูมิเจ้าที่ระดับชุมชน จีนเรียกว่า “ถู่ตี้กง” บางศาลใหญ่โตมีชื่อเสียง ผู้คนจากท้องถิ่นอื่น ๆ ก็นิยมเดินทางไปกราบไหว้บูชศาลพระภูมิเจ้าที่ระดับชุมชนนั้น ๆ ขอแนะนำว่าเมื่อไปไหว้ศาลเจ้า “ถู่ตี้กง” ที่ไกล ๆ แล้ว ก็ต้องไม่ลืมเซ่นไหว้ถู่ตี้กง ที่อยู่ใกล้ ๆ บ้านที่สุด รวมทั้งเซ่นไหว้ตี้จู่เอี้ยภายในบ้านด้วย
แม้ว่าคนส่วนใหญ่เซ่นไหว้บูชาตี้จู่เอี้ยอยู่แล้ว แต่โดยมากจะไม่รู้ว่าท่านก็เป็นไฉเสิน – ทรัพยเทพ ด้วยเหมือนกัน
ความเคารพบูชาตี้จู่เอี้ย และถู่ตี้กง สมัยโบราณก็มีที่มาจากการเคารพบูชาธรรมชาติ เช่น ฟ้า ดิน เหมือน ๆ กัน
ต่อ มาเมื่อความเชื่อพัฒนาเป็นการเคารพบูชาองค์เทพ ถู่ตี้กงได้เป็นไฉเสินของชุมชน ตี้จู่เอี้ยก็คือองค์แบ่งภาคมาจากถู่ตี้กง หรือจะเรียก “สาขา” ก็ได้ ดังนั้นท่านก็เป็นทรัพยเทพด้วยเช่นกัน
นอก จากจะเซ่นไหว้ “ตี้จู่เอี้ย” ในวันที่เราไปเซ่นไหว้ "ถู่ตี้กง” แล้ว ในวันเทศกาลทุกครั้งที่เราไหว้เจ้า เราก็ควรเซ่นไหว้ตี้จู่เอี้ยด้วยเสมอ
วิธีบูชา ที่ชาวไต้หวันนิยมคือ ตั้งตั่งเตี้ย ๆ (อย่าสูง) ห่างจากทางเข้าอาคารบ้าน ประมาณสามฟุต
วางกระดาษ ทอง ฮกกิม 福 金 ไว้ด้านบนสุดของตั่ง วางเหล้าหนึ่งขวด รินใส่จอกสุรา 1-3 จอก ถัดลงมาจากกระดาษทอง ถัดลงมาจากสุรา ตั้งถ้วยอาหาร นิยมมีอาหาร 6 หรือ 8 หรือ 12 ถ้วย (ต้องเป็นเลขคู่) ผลไม้นิยมใช้สาลี่ ตั้งถ้วยข้าวในระดับถัดลงมา วางตะเกียบไว้ข้างขวาของถ้วยข้าว ถัดลงมาวางเงินกระดาษ
เมื่อจุดธูปเซ่นไหว้ ธูปไหม้ไปครึ่งหนึ่งแล้ว ให้รินสุราใหม่ในจอก นำกระดาษฮกกิม และเงินกระดาษไปเผานอกอาคารบ้าน ให้เผากระดาษฮกกิมก่อน ขณะที่เผาก็ภาวนาระลึกถึง ถู่ตี้กง และ ตี้จู่เอี้ย
ที่ ชาวไต้หวันเขานิยมตั้งตั่งเซ่นไหว้ห่างจากทางเข้าอาคารสามฟุตนั้น เขาเชื่อกันว่า เหล่าเทพเจ้าต่าง ๆ จะเข้ามาบ้านของมนุษย์ ก็ย่อมเข้ามาทางหน้าบ้าน โดยมีตี้จู่เอี้ยเป็นผู้ต้อนรับนำทาง และเมื่อจุดที่ห่างจากทางเข้าอาคารประมาณสามฟุตนั้น ก็เหมาะสำหรับเป็นจุดที่ตี้จู่เอี้ยจะยืนคำนับคารวะต้อนรับเทพเจ้าต่าง ๆ ที่มาเยือนบ้านเรานั่นเอง
บางท้องที่นิยมตั้งตั่งเซ่นไหว้ทั้งด้านประตูหน้าและด้านประตูหลัง
แต่เทพเจ้าที่แท้ย่อมเข้าทางประตูหน้า ไม่แอบ ๆ ซ่อน ๆ เข้าทางประตูหลังหรอก
การที่มีตั่งเซ่นไว้ประตูหลังด้วย ท่านว่าน่าจะเป็นที่สำหรับเซ่นไหว้เจ้าที่เป็นอาคันตุกะ “เค่อชงกง 客 兄 公” ที่ผ่านไปผ่านมามากกว่า