ปรากฏการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกวันในขณะนี้ ถ้ายังเกิดขึ้นในทำนองนี้อีกต่อไปเรื่อย ๆ จะส่งผลอย่างไรต่อสังคมไทย ?
หาก มองในแง่ร้ายสักหน่อยก็คือ ผลสุดท้ายราษฎรก็จะเสื่อมศรัทธาความเชื่อมั่นต่อกลไกอำนาจรัฐ และนั่นจะเป็นจุดตั้งต้นของการปฏิวัติสังคม
ขณะนี้นักการ เมืองทุกค่าย นักเคลื่อนไหวทางสังคมกลุ่มต่าง ๆ จะสำนึกถึงเรื่องนี้หรือไม่ เราตอบแทนพวกเขาไม่ได้ แต่ดูจากการที่พวกเขากระทำซ้ำ ๆ อยู่ตลอด แสดงว่าพวกเขาไม่รู้ หรือไม่กังวลภัยที่จะเกิดตามมา
ปรากฏการณ์ “ทำเพื่อพวก” โต้แย้งกันจนหาหลักปฏิบัติที่จะเป็นมาตรฐานสูงสุดในการตัดสินไม่ได้ เพราะต่างฝ่ายต่างก็มีพวกมาก มีเส้นสาย มีพลังในการชี้นำสังคม ต่อสู้กันอย่างไม่มีกติกา ในที่สุดก็จะทำให้สถาบันต่าง ๆ ทางการเมืองเสื่อมไปหมด
องค์กรอิสระต่าง ๆ ตกเป็นเหยื่อในอันดับแรก ๆ ดูเหมือนว่าทุกองค์กรจะถูกโจมตี ให้เสื่อมความโปร่งใส สร้างข้อกังขาให้ราษฎรสงสัย แล้วเสื่อมศรัทธาลง เช่น กกต. คณะกรรมการการเลือกตั้งกำลังเผชิญปัญหาท้าทายเรื่องคดีที่ฟ้องร้องว่าพรรค ประชาธิปัตย์รับสินบน , ป.ป.ช ที่มีมติระบุความผิดของนายตำรวจระดับสูงสามคน ก็กำลังเผชิญปัญหาท้าทายเมื่อ ก.ตร. มีมติสวนกับมติของ ป.ป.ช , ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการประสานงานให้ความเห็นขององค์กรอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง พ.ศ 2553 ก็ถูกองค์กรอิสระคัดค้านและฟ้องศาลปกครอง เนื่องจากยังไม่เคยจัดประชาพิจารณ์
สถาบันตำรวจมีภาพลักษณ์ติดลบ อยู่แล้ว เริ่มต้นปีนี้ก็มาชนกับ ป.ป.ช อีก จึงน่าห่วงว่าสถาบันตำรวจจะไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นศรัทธาให้ดีขึ้นได้ เลย
สถาบันทหารซึ่งหลายปีมานี้ยังรักษาความเชื่อมั่น ศรัทธาไว้ได้ ก็เผชิญกับข่าวอัปยศว่าห้องทำงานผู้บัญชาการกองทัพบกถูกยิ่งด้วยระเบิด M-79 ในวันกองทัพไทย 18 มกราคม แม้จะไม่มีใครบาดเจ็บ ข้าวของเสียหายไม่มาก แต่มันเสียศักดิ์ศรีกองทัพมากเกินไปแล้ว และถ้ามีการสร้างสถานการณ์ทำลายชื่อเสียงของกองทัพต่อไปเรื่อย ๆ ถึงจุดหนึ่งราษฎรก็อาจหมดความเชื่อมั่นศรัทธาต่อสถาบันทหาร
รัฐสภา เปิดแล้ว ยังประชุมไม่ได้เพราะ ส.ส ไม่ครบองค์ประชุม วันต่อ ๆ ไป ถึงประชุมได้ก็คงจะมีการตีรวนกันทำให้ไม่มีผลงานอะไร จะยกเว้นก็คือ การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล
ภาพลักษณ์รัฐสภายังเป็นลบอยู่ เพราะแสดงบทบาทชัดเจนว่าเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อพรรคพวก
ส่วนรัฐบาลนั้น เป็นเป้าหมายที่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลต้องการทำให้เสื่อมเสีย จนราษฎรหมดศรัทธาความเชื่อมั่น แล้วจะได้ล้มไป
การ ต่อสู้เพื่อล้มรัฐบาลของฝ่ายค้านนั้น ในระบอบประชาธิปไตยนั้นต้องอยู่ในกรอบกฏหมาย หากพยายามทำลายล้างกันเหมือนทำสงครามกับอริราชศัตรูแล้ว ก็เท่ากับทำลาย “รัฐ” ตนเอง ผลแห่งการเคลื่อนไหวเหล่านั้นจะทำลายความเชื่อมั่นศรัทธาที่ราษฎรมีต่อกลไก อำนาจรัฐ และเมื่อราษฎรไม่ศรัทธาต่อกลไกอำนาจรัฐแบบเก่าแล้ว เขาก็อาจจะพยายามสร้างกลไกอำนาจรัฐแบบใหม่ขึ้น
การเปลี่ยนกลไกอำนาจรัฐเป็นแบบใหม่ ก็คือการปฏิวัติ