7 กุมภาพันธ์ 2553

กองทัพเถื่อน

                                                                   กองทัพเถื่อน


คนกลุ่มหนึ่งประกาศตั้งกองทัพประชาชนแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้กลุ่มของเขามีกำลังครบสามด้าน ได้แก่ พรรค กองทัพ และแนวร่วม แถมยังประกาศแต่งตั้ง พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดกองทัพประชาชน ฯ อีกด้วย

ไม่ว่าวันรุ่งขึ้นจะมาแก้ตัวกันว่าอย่างไรก็ตาม

คนกลุ่มนี้ก็ทำให้นายพลหลายสิบคนที่ไปซบพรรคเพื่อไทย เน่าไปทั้งคอกแล้ว !

ใคร ๆ ก็รู้กันอยู่ว่า ยุทธศาสตร์การจัดกองกำลังสามส่วน ได้แก่ พรรค แนวร่วม และกองทัพประชาชนนั้น เป็นยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการปฏิวัติสังคมของพรรคการเมืองคอมมิวนิสต์สายนิยมการเปลี่ยนแปลงสังคมด้วยความรุนแรง การที่คนกลุ่มนี้ประกาศใช้ยุทธศาสตร์นี้ จึงต้องตอบคำถามต่อสังคมให้ได้ว่า เขาต้องการอะไรกันแน่ !

หากอธิบายว่า ทำเพื่อประชาธิปไตย

ประชาธิปไตยที่พวกเขาต้องการเป็นแบบไหนกัน เป็นประชาธิปไตยแบบที่ นายทักษิณชินวัตร สั่งการได้คนเดียวใช่ไหม ?

หากอธิบายว่า ทำเพื่อสร้างสังคมใหม่

สังคมใหม่ที่พวกเขาต้องการคืออย่างไร แตกต่างจากสังคมปัจจุบันอย่างไร ?

การประกาศตั้งกองทัพประชาชนนี้ มาพร้อมกับคำขู่ว่า ให้เวลารัฐบาล ขอเจรจากับนายทักษิณ ภายในเดือนกุมภาพันธ์นี้ หากเลยเวลานี้ไปแล้ว นายทักษิณจะห้ามกองทัพประชาชนไม่ได้แล้ว หากเลยเวลาเส้นตายนี้ไป กองทัพประชาชนจะทำการรบแตกหัก

จะแตกหักกับใคร ?

อำมาตยาธิปไตยหรือ แล้วรูปธรรมของอำมาตยาธิปไตยเป็นอย่างไร ?

คือฝ่ายตรงข้ามของนายทักษิณใช่ไหม !

พวกเขาจะอธิบายได้อย่างไรว่า กองทัพประชาชนฯที่เขาจัดตั้งกันขึ้น ไม่ใช่กองกำลังส่วนตัวของนายทักษิณ

นายพลเฒ่าทั้งหลายเอย น่าสังเวชที่ได้ลดตัวตกต่ำจากนายพลแห่งราชอาณาจักรไทยไปเป็นทหารในกองทัพเถื่อน

เสียงขู่ทางโทรศัพท์ของนายพลเถื่อนจากดูไบ ที่ว่าถึงเวลาแตกหักแล้วนั้น ถูกต้องแล้ว สังคมไทยควรจัดการปัญหานี้ให้แตกหักเด็ดขาดเสียที

ตัวอย่างประเทศเฮติที่ปล่อยความขัดแย้งทางการเมือง ต่อสู้กันรุนแรงยืดเยื้อแบบผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมากว่าสิบปี ตั้งแต่ พ.ศ 2533 นั้น ส่งผลร้ายต่อประเทศเฮติอย่างไร เราท่านก็เห็นกันตำตาอยู่แล้ว

สงครามการเมืองในไทย หากปล่อยยืดเยื้อยาวนานต่อไป อนาคตประเทศไทยอาจคล้ายกับเฮติ