ทอดแหสามวัน ผึ่งแหสองวัน
“ทอดแหสามวัน ผึ่งแหสองวัน” เป็นสุภาษิตจีน สอนว่าอย่าเกียจคร้าน จับจด
ก่อนจะเล่าเรื่องจีน ขอเล่าเรื่องที่ พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช พูดถึงข้อเสียจากความหลงระเริง หย่อนคลายความมุ่งมั่นในอาชีพการงาน หลังจากที่เคยได้รับความสำเร็จอย่างสูงมาแล้ว
ท่านพูดไว้ในรายการ “เพื่อนนอน” วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ 2505
ตัวอย่างที่ท่านยกมาพูด คือ “โผน กิ่งเพชร” หลังจากได้เป็นแชมป์โลกแล้ว ก็เกิดอาการแบบ “ก่อนได้เป็นแชมป์โลก โผนปลุกครู พอได้เป็นแชมป์แล้ว ครูต้องปลุกโผน”
ท่านเล่าไว้ดังนี้
“โผน กิ่งเพชร ซึ่งเป็นแชมเปี้ยนโลกในทางมวยของไทยแต่เพียงคนเดียวนั้น บัดนี้ก็ได้ไปแพ้ญี่ปุ่นเขามาแล้ว..........
การกีฬานั้นย่อมมีแพ้มีชนะ ซึ่งผู้ใดก็ย่อมจะรู้ แต่ว่าเมื่อแพ้ลงไปแล้วก็อดเสียดายไม่ได้ อย่างนี้ก็เป็นวิสัยของปุถุชนเช่นเดียวกัน ที่ผมจะพูดต่อไปนี้ ผมไม่อยากจะตำหนิติเตียนโผน ถือว่าเป็นการคุยด้วยความเห็นอกเห็นใจ ไม่ตำหนิติเตียนอย่างใดทั้งสิ้น แต่ว่ามันก็อดที่จะมีความคิดอะไรบางอย่างเกิดขึ้นมาไม่ได้ เมื่อได้อ่านหนังสือพิมพ์เมื่อเช้าวันนี้ ที่เขาลงข่าวการให้สัมภาษณ์ของ ครูนิยม ทองชิตร์ ซึ่งก็เคยเป็นครูพลศึกษาของผมมาเมื่อผมยังเป็นเด็ก ๆ และคำให้สัมภาษณ์ของโผนเองเกี่ยวกับเหตุผลว่า เพราะเหตุใดจึงได้พ่ายแพ้ในครั้งนี้ ครูนิยมได้กล่าวอย่างเปิดเผยซึ่งน่านับถือที่สุดว่า ที่โผนแพ้คราวนี้เพราะขาดซ้อม เพราะไม่มีเวลาที่จะฝึกซ้อมได้ทันท่วงที ครูนิยมบอกว่า เมื่อก่นที่โผนจะได้แชมเปี้ยนโลกนั้น เช้ามืดขึ้นมาโผนมาปลุกครูว่าจะ ไปซ้อมกันหรือยัง แต่ในตอนที่ได้เป็นแชมเปี้ยนโลกแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งก่อนที่จะขึ้นชกครั้งนี้ ครูต้องเป็นผู้ไปปลุกโผน แล้วเมื่อโผนตื่นขึ้นมาแล้วก็ทำท่าจะขาดใจตาย นอกจากนั้นครูนิยมของผม ก็กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อเป็นแชมเปี้ยนเข้าแล้ว โผนก็เที่ยวเตร่ไปตามไนต์คลับบ้าง ที่อื่น ๆ บ้าง แล้วก็ไม่มีเวลาที่จะมาฝึกซ้อมมวยตามที่เขาทำกัน ด้วยเหตุนี้น้ำหนักของโผนก็ลดลงไป กำลังก็อ่อนลงไป แล้วเมื่อได้ซ้อมในระยะเวลาอันสั้นก็เป็นธรรมดาที่จะต้องแพ้เขา ครูนิยมบอกว่านักมวยญี่ปุ่นที่ชนะโผนนั้น ไม่มีน้ำหนักหมัดอะไรน่ากลัว หรือว่าเป็นผู้ที่มีฝีมือดีเด่นเลิศลอยอะไรเลย เป็นนักมวยธรรมดา ๆ นี่เอง แต่โผนก็ยังแพ้
นี่ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องคิดไว้ว่า คนขนาดครูบาอาจารย์ที่มีลูกศิษย์ลูกหาทั้งเมือง ซึ่งมีผมรวมอยู่ด้วยได้กล่าวออกมาอย่างนี้ ท่านจะต้องกล่าวด้วยความสุจริตเป็นอย่างยิ่ง ท่านก็คงไม่ประสงค์จะตำหนิติเตียนลูกศิษย์ของท่านเอง แต่มันเป็นความจริงทีท่านจะต้องกล่าว ท่านได้บอกด้วยว่า เมื่อก่อนที่จะชกนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องออกข่าวไปว่าโผนฟิตดี แข็งแรงดี คราวนี้ชนะแน่ ทั้งนี้เพราะเหตุว่า ถ้าไปออกข่าวอย่างอื่น ก็เท่ากับไปยอมแพ้เขาเสียแต่แรก มันผิดวิสัยการกีฬา”
ก็เรื่องทำนองนี้แหละครับ ที่ผมเอามาโยงใยเป็นตัวอย่างของเรื่องสุภาษิต “ทอดแหสามวัน ผึ่งแหสองวัน”
เรื่องนี้ผมคัดมาจากหนังสือเรื้อง “108 วิธีคิดดีดี ได้พัฒนาตน” แปลเรียบเรียงโดย คุณทิภาพร เยี่ยมวัฒนา จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์คุณธรรม คุณทิภาพร เธอเป็นนักแปลผู้มีฝีมือคนหนึ่ง ที่เริ่มงานแปลมาตั้งแต่สมัยผมทำงานบรรณาธิการหนังสือแปลจากภาษาจีนให้สำนักพิมพ์ดอกหญ้า
ลองอ่านสำนวนของเธอดูครับ
“ทอดแหสามวัน ผึ่งแหสองวัน
คนที่มีอาชีพทอดแหจับปลา พอทอดแกได้สามวัน ก้เอาแหมาผึ่งเสียสองวัน เป็นปารเปรียบเปรยถึง คนทำอะไรไม่ยืนหยัด ไม่อดทน
ออกไปจับปลาได้ 3 วัน ก็หยุดพัก เอาแกมาผึ่งแดดเสีย 2 วัน ไม่มีความอดทนต่อความเหนื่อยยาก ชีวิตของเขาย่อมยากที่จะอยู่ดีกินดีขึ้นมาได้
โบราณว่าไว้ คนไม่มีความมุ่งมั่นยากจะดำรงอยู่ได้ แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าความมุ่งมั่นก็คือ ความมุมานะบากบั่นที่จะทำให้สิ่งที่ตนคิดฝันได้กลายเป็นความจริง หาไม่แล้วปณิธานที่ตั้งไว้ก็ย่อมสูญเปล่า
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีจิตใจที่ทรหดอดทน ต่อสู้อย่างไม่ท้อถอย จึงจะสร้างผลงานขึ้นมาได้ หากเป็นเช่นสุภาษิตที่ว่า “ทอดสามวัน ผึ่งแกสองวัน” แล้วละก็ ย่อมไม่มีวันทำอะไรได้สำเร็จ ดังนั้นหากคิดจะประสบความสำเร็จก็ต้องแปรความคิดออกมาเป็นการกระทำ ทั้งยังต้องยืนหยัด ที่จะทำต่อไปอย่างสม่ำเสมอ หากขาดจิตใจที่เด้ดเดี่ยวแน่วแน่ยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ยอมถอยแล้วละก็ ต่อให้กำหนดเป้าหมายไว้สวยหรูเพียงใด มีความทะเยอทะยานสูงส่งเพียงไหน ก็เป็นเพียงวาดวิมานบนอากาศเท่านั้น
ข้อคิดพัฒนาตน คำว่ายืนหยัดอดทน นั้นพูดง่ายทำยาก แต่ไม่อาจเป็นเพราะยากจึงล้มเลิก ไม่ทำต่อ หากเอาแต่ผึ่งแห แล้วจะหวังกินเนื้อปลาได้อย่างไรกัน”
หนังสือเล่มดังกล่าว มีเรื่องราวเตือนใจเพื่อพัฒนาตนทำนองนี้ถึง 108 เรื่อง อ่านแล้วได้รับประโยชน์มากครับ.