กลอนรักของ “คึกฤทธิ์”
๐ นอนเสียเถิดยาหยีพี่จะกล่อม
แม้ว่าพร้อมใจร่วมสโมสร
ต้องยึดเอาบาทวิถีเป็นที่นอน
มีพระพายคลายร้อนเป็นคนพัด
พฤกษาใหญ่กั้นกลางเป็นหลังคา
มีดารานับแสนแน่นขนัด
เป็นประทีปตามไว้ให้เห็นชัด
เสียงรถจัดเหมือนประโคมประโลมใจ
ถึงทุกข์ยากของเราเขาไม่เห็น
แต่เทวายังเป็นพยานให้
สามัคคีให้ตลอดกอดกันไว้
คงจะได้สมมาตรไม่คลาดกัน ๐
(จากหนังสือ คึกฤทธิ์ ปราโมช “ตอบปัญหาหัวใจ” )
“คึกฤทธิ์ ปราโมช” ท่านเขียนบทกวีไว้ไม่มาก แต่ก็เขียนทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน หนังสือที่เขียนเป็นบทกวีเกือบทั้งเล่มคือ “กษัยธรรม” เป็นงานเขียนล้อเลียนนโยบายของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม
ฉบับนี้จะเสนอบทกวีที่เกี่ยวกับเรื่อง ชาย-หญิง ความรัก
บทหนึ่งเขียนตอบเป็นคำฉันท์
ผู้อ่านถามมาว่า
๐ ขอโทษเพราะ “พาหิรกถา” กรุณากระผมที
คือว่าประดากุลนรี นุชน้องประคองตัว
เป็นโสดมิโปรดปุริสร่วม บมิรวมมิพันพัว
จักนึกและตรึกหทยกลัว ฤ เพราะเหตุพิเศษใด
พรหมันธสรรค์ยุคลเพศ ก็วิเศษประจักษ์ใจ
เพื่อการสมานก็และไฉน อรฝืนมิชื่นชม
เมื่อเธอมิเออมนสอวย ผิจะช่วยก็ขืนข่ม
โปรดตอบผิชอบนิตินิยม ก็จะเกิดประโยชน์หลาย ๐
“คึกฤทธิ์ ปราโมช”ตอบว่า
๐ เหตุว่าประดากุลนรี อรมีหทัยอาย
แม้รีบสนองวจนชาย ก็จะเสื่อมจะสิ้นแสง
หัวใจบุรุษวิกลนัก ผิวะรักสิร้อนแรง
รักตอบมิชอบมนะระแวง ชระบอบเสน่ห์นาน
รักใดจะเพริศวิมลเทียบ ฤจะเปรียบประเมินปาน
“รักตน” สิคือปทสถาน ปฏิพัทธ์วนิดา
ความรักผิท่วมอุระสตรี บ่มิมีจะเผยมา
ยอมม้วยเพราะเหตุตฤษณา ฤ เพราะกลืน “มดีนาล” ๐
“ความรักผิท่วมอุระสตรี บ่มิมีจะเผยมา”
มองตาก็รู้ครับว่า ผู้หญิงรักเราหรือเปล่า
พอดีผมเป็นผู้ชายน่ะครับ เลยพูดแทนสตรีไม่ได้ว่า เธอมองตาชายแล้วรู้หรือเปล่าว่าผู้ชายรักเรา
ผมยังไม่พบงานกวีประเภทสายลม-แสงแดด ของ “คึกฤทธิ์ ปราโมช” เลย
จะเป็นเพราะท่านไม่เขียน หรือว่าเพราะท่านมาเขียนหนังสือเอาตอนเป็นผู้ใหญ่ผ่านวัยมาพอสมควรแล้ว จึงไม่มีกลอนประเภทหวานแหวว
ในเรื่องนิราศร้อน กลอนนิราศเรื่องเดียวของท่าน ท่านเขียนรำพึงรำพันไว้ว่า
๐ นิราศร้อนจรเหนือเมื่อเมษา
ไปนครเชียงใหม่วิไลตา
ขวบเวลาเล่นน้ำยามสงกรานต์
จะเพ้อพร่ำสั่งสุดาน้ำตาตก
ต้องโกหกเพราะไม่มีอยู่ที่บ้าน
ด้วยเลิกร้างโรยรามาช้านาน
กลายเป็นตาลโตนดผู้อยู่ต้นเดียว
รถไฟอกจากกรุงมุ่งสู่เหนือ
สบายเหลือด้วยไม่มีที่จะเหลียว
ไม่มีข้อผูกพันกระสันเกลียว
จึงอาจเที่ยวพักผ่อนหย่อนอารมณ์ ๐
ความรักใน “นิราศร้อน” ถ่ายเทไปสู่ความรักแผ่นดินถิ่นไทย อันเป็นความรักที่ยิ่งใหญ่นิรันดร ท่านเขียนไว้ว่า
๐ ใครอยากให้คนไทยนั้นรักชาติ
ควรจะหาโอกาสให้เที่ยวเตร่
เห็นเมืองไทยเหนือสุดผุดทะเล
ตงจะเหหันจิตคิดคำนึง
ว่าเมืองทองของไทยอันใหญ่หลวง
ควรจะหวงเอาไว้อาศัยพึ่ง
เป็นที่กินที่อยู่จะสู้ตรึง
ไว้จนถึงลุกหลานกาลต่อไป
พิศเพลินภูมิประเทศเขตพายัพ
รู้สึกจับใจจริงยิ่งเมืองไหน
เคยผ่านแล้วแถวถิ่นแผ่นดินไกล
หาเมืองใดที่จะเทียบเปรียบเมืองทอง
ถึงงามตาน่ายลของคนอื่น
ก็ไม่ชื่นเหมือนกับเราเป็นเจ้าของ
เสียงลมพัดน้ำตกวิหคร้อง
เป็นทำนองภาษาไทยไปทั้งนั้น
เห็นป่าไม้เขียวสดจรดขอบฟ้า
มีภูผากั้นอยู่ดูขึงขัน
แม้นมีคู่แล้วจะร่ำพร่ำรำพัน
จะด้นดั้นภูผาไปหานาง ๐
ปิดท้ายด้วยโคลงถามตอบที่ไพเราะ ท่านผู้อ่านเขียนมาถามว่า
“ ลาโง่ตัวหนึ่ง กินหญ้าอยู่ที่ชายป่า ได้ยินเสียงจิ้งหรีดร้องเพราะจับใจ อยากจะใคร่ร้องได้บ้าง จึงไปถามจิ้งหรีดว่า
๐ คึกฤทธิ์คิดลึกพ้น ธรรมดา มนุษย์แฮ
เจนจัดจบวิทยา อาจอ้าง
สงสัยเสพโภชนา ใดเล่า ละพ่อ
“ฤาท่านกินน้ำค้าง จึ่งร้องจับใจ” ๐”
“คึกฤทธิ์ ปราโมช” ตอบว่า
“แต่เผอิญจิ้งหรีดตัวนั้นเป็นจิ้งหรีดชนิดที่กินหญ้า เช่นเดียวกับลาทั้งปวง จึงตอบว่า...
๐ สำเนียงสนาะพร้อง เพียงใด พ่อเอย
เพราะพุดจากหัวใจ พวกพ้อง
อาหารเฉกคนไทย เขาเสพ กันพ่อ
คือว่า “น้ำลูบท้อง” เสพแล้วอิ่มเหลือ ๐