29 มีนาคม 2553

the longest year

                                                                   The Longest Year


สถานการณ์เมืองไทยในวันอาทิตย์ที่ 28 มีนาคม ล่อแหลมขึ้นมาทันทีทันใด เมื่อทางกลุ่ม นปช.ผ่านฟ้า ประกาศว่าจะเดินทางไปเรียกร้องนายกรัฐมนตรียุบสภาในทันที แกนนำ นปช.บางคนประกาศว่าถ้านายกรัฐมนตรีไม่ยอมยุบสภา เสื้อแดงก็จะเข้าไปในกรมทหารราบ 11 จุดนี้สร้างความตึงเครียดขึ้นทันที เพราะคนทั่ว ๆ ไปก็มีสามัญสำนึกรู้ว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่ยอมยุบสภาเพราะการใช้มวลชนกดดันหน้ากรมทหารราบ 11 แล้วเมื่อเจรจาไม่สำเร็จ มวลชนรุกเข้าไปในพื้นที่กรมทการาบ 11 ทหารก็ย่อมจะป้องกันพื้นที่ ด้วยมาตรการทีละขั้น

แต่ในที่สุด ก็จะหลีกความรุนแรงไม่พ้น

เช้าวันอาทิตย์ ความตึงเครียดยิ่งเพิ่มขึ้นเมื่อ นายกรัฐมนตรีแถลงก่อน กลุ่ม นปช.ผ่านฟ้าเคลื่อนขบวนไปกรมทหารราบ 11 ว่าจะไม่พบกับแกนนำ นปช.ผ่านฟ้าที่กรมทหารราบ 11 แล้วแกนนำ นปช.ผ่านฟ้าเรียกร้องใหม่ ให้เวลานายกรัฐมนตรี 1 ชั่วโมง จากนั้นจึงมีการตอบรับจากรัฐบาลให้มีการนัดเจรจาที่สถาบันพระปกเกล้า โดยกลุ่ม นปช.ผ่านฟ้าจะไม่เคลื่อนมวลชนออกไป แต่กลุ่ม นปช.หน้ากรม

ทหารราบ 11 ยังชุมนุมอยู่หน้ากรมทหารราบ 11

นักวิเคราะห์สถานการณ์ในจอโทรทัศน์ ส่วนใหญ่มองตรงกันว่า เป็นเกมชิงไหวชิงพริบ ชิงความได้เปรียบเสียเปรียบกัน ระหว่างแกนนำ นปช.ผ่านฟ้า กับรัฐบาลเท่านั้น เพราะต้นตอของปัญหารากเหง้าคือเรื่องคดีความและทรัพย์สินของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตรและครอบครัว !

แม้ว่าจะยุติวิกฤติเฉพาะหน้าใน กทม. ขณะนี้ได้ โดยสามารถกำหนดระยะเวลาการยุบสภา และตกลงเงื่อนไขในการเจรจาเรื่องอื่น ๆ ต่อไปกันได้สำเร็จ แต่นั่นก็ไม่อาจยุติปัญหาในบ้านเมืองทั้งหมดได้

เนื่องจากรากเหง้าปัญหาแท้จริงอยู่ที่ “ทักษิณ ชินวัตร”

นักวิเคราะห์บางรายอาจมองว่า ปัญหาวิกฤติการเมืองไทย มีการเปลี่ยนแปลงระดับคุณภาพแล้ว ได้ก้าวข้ามพ้นเรื่องของ “ทักษิณ ชินวัตร” แล้ว

นั่นคือได้จุดไฟ คู่ขัดแย้งใหม่ ได้แก่ “ไพร่กับระบบอำมาตย์ ได้สำเร็จแล้ว !

จากนี้ต่อไป การต่อสู้ทางการเมืองจะเป็นการต่อสู้ระหว่างไพร่ที่ต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริงกับระบบอำมาตยาธิปไตย

แต่ผู้เขียนเห็นว่า พัฒนาการของความขัดแย้งยังไม่ถึงระดับนั้น

ปัจจัยและเงื่อนไขอันเป็นจริง ที่ทำให้การต่อสู้ทางการเมืองที่ฝ่าย นปช.ใช้คำว่า “สงคราม” ยืดยาวอยู่ได้นั้น ยังขึ้นอยู่กับประเด็น “เอา กับไม่เอา ทักษิณ”

ในเมื่อรากเหง้าปัญหาบ้านเมืองยังมิได้เปลี่ยนแปลง “การยุบสภา” จึงไม่อาจยุติปัญหาที่แท้จริงได้ การยุติปัญหาวิกฤติความขัดแย้งในสังคมไทยนั้น ต้องใช้เวลาอีกนาน อย่าคิดเป็นวัน ๆ ขอให้คิดเป็น ปี !

ทนมาได้สี่ปีแล้ว ขอให้อดทนต่อไปอีก

เรื่องที่ควรตระหนักคือ การต่อสู้ของ พ.ต.ท ทักษิณ ชินวัตร นั้น “ยุทธวิธีเปลี่ยน แต่ยุทธศาสตร์ยังไม่เปลี่ยน”

แม้ว่าอุณหภูมิการเมืองลดลงพอให้ผู้คนผ่อนคลายได้อีกหลายวัน เมื่อสามตัวแทนแกนนำ กลุ่ม นปช.ผ่านฟ้าพบปะเจรจากับนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็เป็นที่รู้ ๆ กันอยู่แล้วว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดข้อตกลงยุติปัญหากันได้ในการเจรจาสองสามรอบ

เมื่อมีการเจรจากันขึ้น ทั้งสองฝ่ายต่างมีผลได้ผลเสีย

ส่วนฝ่ายไหนจะได้หรือเสียมากกว่ากัน คงเป็นไปตามอคติของผู้ชมเหมือนเดิมนั่นแหละ

การถ่ายทอดสดการพบปะเจรจากันเป็นเรื่องดียิ่ง แต่การสื่อสารเพียงครั้งเดียวนี้ ยังไม่สามารถจะล้างอคติที่ฝังอยู่ในใจผู้คนจำนวนมากได้ในทันทีทันใด

คนไทยเรารับสาร ฟังความข้างเดียวมานานแล้ว

จุดนี้เป็นปัญหาที่ต้องรีบแก้ไขโดยด่วน

รัฐบาลยอมนั่งเจรจากับตัวแทนกลุ่ม นปช.นั้น ทาง “คนเสื้อแดง” จะเฝ้าชมกันหรือไม่ อย่างไร ? ถ้าติดชามรับฟังรับชมอย่างจริงจังก็จะดีมาก

เพราะอาจจะสามารถดึงเอาการต่อสู้ทางการเมือง ที่เคลื่อนใกล้เข้าไปสู่ “สนามรบ” ให้กลับมาสู่ “สนามปกติ” คืออยู่ในกรอบ กฏเกณฑ์ กติกา ระบอบประชาธิปไตยที่ยุติธรรม

การต่อสู้ทางการเมืองจนเป็นวิกฤติมาหลายปีแล้วนี้ มีหลายลำดับชั้น

ปรากฏการณ์ที่ผู้คนเห็นชัดอยู่ขณะนี้ คือกลุ่ม นปช. และพรรคพลังไทยที่โจนเข้าร่วมเต็มตัวฝ่ายหนึ่ง กับรัฐบาลอีกฝ่ายหนึ่ง ยุทธศาสตร์ของ กลุ่ม นปช. คือขับไล่ให้รัฐบาลต้องสละอำนาจ จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็วที่สุด ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลคือยืดเวลาให้อยู่เป็นรัฐบาลครบเทอม

ยุทธวิธีของทั้งสองฝ่ายนั้น ย่อมสรรค์มาใช้กันทุกอย่าง ซึ่งมันจะเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์

เช่น เฉพาะหน้านี้สองฝ่ายหันมาใช้ยุทธวิธีพูดกันบนโต๊ะ

แต่เมื่อมีปัจจัยต่าง ๆ เปลี่ยนแปลงไป หรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความได้เปรียบอย่างเต็มที่แล้ว เราก็อาจจะเห็นการรุกฆาตก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของฝ่ายรัฐบาลกับกลุ่ม นปช.ผ่านฟ้า นั้น ก็เป็นเพียงการต่อสู้ระดับเปิดเผย คือเป็น “ธง” ให้คนเห็น

เราควรจะมองให้ลึกถึงการต่อสู้เบื้องลึก ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน

ที่สำคัญคือ ยุทธวิธีและกลศึกต่าง ๆ ที่ก่อเรื่องราวมากมาย อันไม่อาจหาหลักฐานชัดเจนว่าเกี่ยวอะไรกับกลุ่ม นปช.และรัฐบาล นั่นได้แก่ การยิงระเบิด โยนระเบิด ที่ขยายเป้าจากหน้าค่ายทหาร, ผู้นำองค์กรอิสระ , มาจนถึงบ้านนักการเมืองที่ไม่ใช่คู่กรณี อย่าง นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นต้น การขว้างระเบิดใส่โรงเรียนเปรม ติณสูรานนท์ สองแห่ง การขว้างระเบิดและยิงใส่ธนาคารกรุงเทพ และการก่อกวนต่าง ๆ อีกมากมาย เหล่านี้เป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือโต๊ะการเจรจาระหว่าง กลุ่ม นปช.ผ่านฟ้ากับรัฐบาล

นอกจากรัฐบาลต้องเผชิญกับปัญหา “ก่อการร้าย” ข้างต้นแล้ว รัฐบาลยังต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ยิ่ง 2 ด้าน คือ 1.กลไกรัฐซื่อสัตย์เชื่อฟังคำบังคับบัญชารัฐบาลเพียงใด 2.แนวร่วมด้านต่าง ๆ ของพรรคประชาธิปัตย์ยังเข้มแข็งเหนียวแน่นเพียงใด เหล่านี้คือจุดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะปัจจัยเหล่านี้แหละ ที่จะทำให้วิกฤติยืดเยื้อออกไปเป็นหน่วยเวลา....ปี !