27 มีนาคม 2553

ดาหลัง

                                                                     ดาหลัง


“ดะลัง” ภาษาชวาแปลว่า “หนัง” (หนังตะลุง)

“นายหนัง” หรือศิลปินหัวหน้าวงหนัง เขาเรียกว่า “ป๊ะดะลัง”

ในหมู่บ้านใจกลางเกาะบาหลีที่วัฒนธรรมประเพณีเก่ายังคงมีอิทธิพลมากอยู่นั้น “นายบ้าน” มีวรรณะกษัตริย์ “พราหมณ์”ผู้ทำพิธีทางศาสนา มีวรรณะพราหมณ์ ว่ากันตามฐานะแท้จริงที่ผมเห็น (พ.ศ 2532) นายบ้านมีฐานะสูงกว่าพราหมณ์

หลาย ๆ หมู่บ้านจึงจะมี “ป๊ะดะลัง” ศิลปินใหญ่สักคนหนึ่ง และป๊ะดะลังนี้มีเกียรติยศมีฐานะศักดิ์ศรีสูงกว่านายบ้านเสียอีก ลักษณะที่ศิลปินผู้ประกอบพิธีกรรม (การเล่นหนังเป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรม) มีศักดิ์ฐานะสูงสุดในสังคมนี้ ผมเชื่อว่าเป็นลักษณะพิเศษของสังคมเอเชียอาคเนย์ยุคดั้งเดิม

คำว่า “ดาหลัง” ในเมืองไทย นอกจากหมายถึง “หนัง”(หนังตะลุง)แล้ว ยังเป็นชื่อวรรณคดีที่สยามรับมาจากชวาด้วย วรรณคดี “ดาหลัง” นี้เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “อิเหนาใหญ่”

วรรณคดี “อิเหนาใหญ่” (ดาหลัง) และ “อิเหนาเล็ก” แพร่หลายมาถึงสยามในช่วงปลายยุคกรุงศรีอยุธยา มีหลักฐานชัดเจนในวรรณคดีเรื่อง “บุณโณวาทคำฉันท์” ของพระมหานาค วัดท่าทราย แต่งในรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่ามหรสพที่เล่นในงานพระพุทธบาทสระบุรีนั้น มีเรื่องิเหนาด้วย

และมีตำนานว่า เจ้าฟ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎ พระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ทรงแต่งบทละครขึ้นองค์ละเรื่อง เป็นเรื่อง “ดาหลัง”และ “อิเหนา”

ในพระราชนิพนธ์บทละครอิเหนา รัชกาลที่สอง ทรงนิพนธ์ว่า

“อันอิเหนาเอามาทำเป็นคำร้อง                สำหรับงานการฉลองกองกุศล

ครั้งกรุงเก่าเจ้าสตรีเธอนิพนธ์                  แต่เรื่องต้นตกหายพลัดพรายไป”

อันที่จริงบทละครเรื่องอิเหนา สำนวนยุคกรุงศรีอยุธยานั้น ยังปรากฏต้นฉบับอยู่บ้างนิดหน่อย ดังที่ผมเคยนำเสนอในสยามรัฐนานมาแล้ว

พระพุทธยอดฟ้าจุโลกมหาราช รัชกาลที่หนึ่ง ทรงพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาใหญ่(ดาหลัง)และเรื่องอิเหนาเล็ก (อิเหนา) พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ทรงวิจารณ์ไว้ว่า

“ควรเชื่อได้ว่าทั้งสองเรื่องนั้น สำนวนเดิมเคยมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เพราะการฟื้นฟูวรรณคดีก็ดี ราชการงานเมืองก็ดี เป็นการฟื้นฟูตามแบบกรุงศรีอยุธยาทั้งนั้น ท่านไม่น่าจะมีเวลามาคิดแต่งดาหลังขึ้นใหม่แน่”

และพระองค์ทรงวิจารณ์บทละครเรื่อง “ดาหลัง” ว่า “ดาหลัง เป้นกลอนบทละคร ฝีปากปานกลาง ท้องเรื่องสับสนกว่าเรื่องอื่น ๆ “อิเหนา”(เล็ก)เป็นกลอนบทละคร ท้องเรื่องไม่ยุ่งอย่างดาหลัง ฉบับพระราชนิพนธ์รัชกาลที่สอง มีโวหารไพเราะเฉียบแหลมเป็นอย่างยิ่ง แม้จะแต่มาแล้วตั้ง 100 ปีก็ยังไม่เสื่อมความนิยมของมหาชน เคยได้รับความยกย่องของราชบัณฑิตยสถานในรัชกาลที่หก ว่าเป็นยอดของกลอนทั้งหลายในเมืองไทยเพียงเวลานั้น ”

(เรื่อง “ดาหลัง” พิมพ์ในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยิกาเจ้า วันที่ 22 เมษายน 2499)

แม้ว่าสำนวนกลอนใน “ดาหลัง” จะไม่ไพเราะเท่า “อิเหนา” แต่ก็ควรศึกษาอย่างยิ่งในแง่ของความเป็น “ทางกลอนสมัยอยุธยา”

จะขอยกสำนวนในตอน ระเด่นมนตรี(อิเหนา หรือ ดาหลัง) ครวญถึงนางเกนบุษบาเมียคนแรกของระเด่นมนตรี ที่ถูกท้าวกุเรปัน บิดาของระเด่นมนตรีสั่งฆ่า  เพราะดกรธที่ระเด่นมนตรีไปลุ่มหลงนาง  จนไม่ยอมไปแต่งงานกับธิดาท้าวดาหาทีตนสู่ขอไว้ระเด่นมนตรีพบศพของนางเกนบุษบาในป่าจึงนำศพลงแพหนีหายไป ระหว่างที่อยู่ในแพกับศพนางเกนบุษบา ระเด่นมนตรีคร่ำครวญว่า

๐ เมื่อนั้น                                        ฝ่ายระเด่นมนตรีเรืองศรี

พระเนาในแพศพเทวี                       โศกีครวญคร่ำร่ำไร

บุษบาส่าหรีเจ้าพี่อา                         แต่เราลอยคงคาอันหลั่งไหล

ได้ห้าวันแล้วเจ้าดวงใจ                     เจ้าไม่พาทีด้วยพี่ชาย

เจ้าเคยเชยชวนให้ชูชื่น                   ครั้นรื้อฟื้นคืนคิดก็ใจหาย

พี่สู้เสียสมบัติอันเพริศพราย              พี่มาเอกากายอยู่กลางชล

เห็นวารีรี่เรื่อยหลั่งไหล                   เหมือนดวงชลนัยน์ให้โหยหน

แต่พี่เดียวมาเปลี่ยวทุกข์ทน            จงลุกขึ้นชมชลด้วยพี่ชาย

แม้นเจ้าไม่ม้วยมรณา                    จะชี้ชมมัจฉาอันหลากหลาย

เจ้ามานอนแน่นิ่งไม่ติงกาย             สายสวาทผินหน้ามาพาที

เห็นลมพาคงคาเป็นคลื่นซัด           เหมือนเราพลัดมาจากสวนศรี

เห็นฟองชลลอยล่องชลธี              เหมือนเจ้ากับพี่ลอยแพมา

โอ้ว่าแต่นี้นะอกเอ๋ย                    จะชวดชมชวดเชยเสน่หา

จะชวดสุขเกษมศรีปีดา               จะเปล่าใจเปลี่ยวตาทุกราตรี ๐