15 กุมภาพันธ์ 2553

ขงจื๊อ

                                                                              ขงจื๊อ


พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนตอบปัญหาประจำวัน วันที่ 28 สิงหาคม 2498 คุณ ด.สุวรรณชาติที่ถามมาว่า

“กฎหมายกับศาสนา อันใดสำคัญกว่ากัน ถ้าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไป ประเทศนั้นจะเป็นอย่างไร ? และถ้าไม่มีศาสนาจะเรียกประเทศนั้นเป็นคอมมิวนิสต์ได้หรือไม่ ประชาธิปไตยเมืองไทยกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในรัสเซียคล้ายกันหรือเปล่าครับ ?”

พลตรี ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช ตอบว่า

“ทั้งกฏหมายและศาสนาก็เป็นข้อบังคับและข้อกำหนดการกระทำของบุคคลเช่นเดียวกัน ชั่วแต่ว่ากฎหมายนั้น ใครทำผิดก็มีคนอื่นมาคอยลงโทษ ส่วนศาสนานั้นใครผิดคนนั้นก็เป็นคนลงโทษตัวเอง บ้านเมืองที่ขาดกฎหมายก็เป็นจลาจล บ้านเมืองที่ขาดศาสนาก็เป็นที่มืด”

เกริ่นเรื่องนี้แล้ว อยากจะเขียนเรื่อง ขงจื๊อ (หรือ ขงจื่อในสำเนียงจีนกลาง)

ขงจื๊อ เกิดก่อนพุทธศักราช 8 ปี หรือก่อนพระพุทธเจ้าปรินิพพานแปดปีนั่นเอง ท่านเป็นปรมาจารย์ของลัทธิหญู 儒 สั่งสอนระบบจริยศาสตร์และศิลปศาสตร์จนส่งผลสะเทือนต่อคนยุคต่อมาอย่างใหญ่หลวง แต่ลัทธิหญูก็มิใช่ศาสนาอย่างศาสนาเต๋า ศาสนาพุทธ สิ่งที่ขงจื๊อสอน ไม่ใช่ทั้งศาสนาและกฎหมาย ระบบทฤษฎีที่ปราชญ์ลัทธิหญูยุคต่อ ๆ มาหลังจากขงจื๊อแล้ว ก็ไม่ใช่ทั้งกฎหมายและศาสนา แต่ก็มีอิทธิพล กำกับระบบคิดและค่านิยมของชาวจีนยุคศักดินาอย่างฝังลึก และก็มีอำนาจอิทธิพลสูงกว่ากฎหมายเสียอีก เพราะกฎหมายยุคศักดินาจีนนั้น เขียนขึ้นโดยมีลัทธิหญูเป็นอุดมคติเป็นตัวตั้งต้น

ลัทธหญูมีพัฒนาการมาตลอด คำสอนลัทธิหญูหรือลัทธิขงจื๊อ อย่างที่หนังสือทั่ว ๆ ไปเผยแพร่กันอยู่นั้น เป็นสิ่งที่เกิดจากการปฏิรูปครั้งใหญ่ในยุคราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) โดยปราชญ์คนสำคัญชื่อ จูซี

ผมจะยังไม่เขียนถึงลัทธิหญูแนวนั้น

อยากจะกล่าวถึงคำสอนขงจื๊อแท้ ๆ ที่เขาสั่งสอนในตอนเขามีชีวิตอยู่

แนวคิดดั้งเดิมชองขงจื๊อจริง ๆ เป็นความคิดอนุรัก์นิยมที่ต้องการรักษาจริยธรรมแบบเก่า ๆ ดั้งเดิมเอาไว้ ความคิดรวบยอดของท่าน สรุปได้สองคำคือ “จารีตธรรม” 礼 หลี่ และ “มนุสสธรรม” (หรือมนุษยสัมพันธ์ธรรม)仁 เหญิน

หลี่คือจารีตธรรมเนียม ระบบความคิดที่ใช้ จารีตธรรม เป็นเสาหลักในการปกครองสังคมยุคสังคมทาสวางรากฐานมาโดย “จิวกง” (โจวกงต้าน หรือ โจวกง) น้อยชายของ โจวเหวินหวาง ปฐมกษัตริย์ราชวงศ์โจว มีชีวิตอยู่ในราวหนึ่งพันปีก่อนคริสตกาล จารีตธรรมสมัยนั้น เป็นทั้งตัวกำหนด ค่านิยมในสังคม และศักดิ์สิทธิ์เหมือนกฎหมาย ใครละเมิดไม่เชื่อฟัง ไม่ปฏิบัติตามจารีต ก็จะถูกลงโทษทางสังคม(คือเสื่อมเสียชื่อเสียง) และถูกลงโทษทางกฎหมายด้วย (ในช่วงที่กฏหมายมีความศักดิ์สิทธิ์)

สังคมในสมัยขงจื๊อนั้น การปกครองเสื่อมทรามลงมาก ขงจื๊อมีแนวความคิดว่า ต้องใช้หลักจารีตธรรมมาฟื้นฟูความสงบสุขในสังคมขึ้น

แล้วจะทำอย่างไร ฟื้นฟูให้สมาชิกในสังคมเคารพหลักจารีตธรรม ขงจื๊อว่า ต้องสั่งสอน คือต้องให้การศึกษา

แต่สิ่งที่ขงจื๊อพยายามสั่งสอนคนในสังคมนั้น มันเป็นเรื่องเก่าแก่หลายร้อยปีแล้ว ชนชั้นปกครองร่วมสมัยกับขงจื๊อจึงไม่ชื่นชมนิยมคำสอนของขงจื๊อ ประมุขแคว้นหลู่ ภูมิลำเนาของขงจื๊อเอง ใช้ขงจื๊อเป็นเสนาบดีบริหารบ้านเมืองได้ไม่นาน ก็ถูกกลุ่มขุนนางเก่าโค่นล้มขับไล่ออกจากอำนาจ ขงจื๊อเดินทางไปตามแว่นแคว้นต่าง ๆ เกือบ 13 ปี ได้แสดงวิสัยทัศน์ต่อเจ้าแคว้นต่าง ๆ หลายแคว้น แต่ก็ไม่มีเจ้าแคว้นใดตั้งขงจื๊อให้เป็นผู้บริหารบ้านเมือง

จนกระทั่งขงจื๊อได้กลับคือสู่ภูมิลำเนา จึงทุ่มเทให้กับการศึกษาและการชำระปรับปรุงคัมภีร์เก่า ๆ

บทบาทที่ยิ่งใหญ่ของขงจื๊อ มิได้อยู่ที่ความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงระบบจริยธรรมในยุคของท่าน แต่คือการวางระบบการจัดการการศึกษา เปิดโอกาสให้ไพร่สามัญชนมีโอกาสได้รับการศึกษา ซึ่งมีอิทธิพลจริง ๆ ต่อสังคมในสมัยนั้น และยิ่งมีพัฒนาการดียิ่งขึ้นในยุคต่อ ๆ มา

ถ้าจะเรียกว่า ขงจื๊อเป็นบิดาแห่งการศึกษาของจีน ก็เหมาะสม แม้ว่าในสมัยขงจื๊อเป็นเด็ก ตามอำเภอต่าง ๆ จะมีโรงเรียนที่จัดทำโดยทางการเกิดขึ้นแล้วก็ตาม แต่โรนงเรียนสมัยนั้นเข้าเรียนได้เฉพาะลูกผู้ลากมากดีเท่านั้น ไพร่สามัญชนและทาสไม่มีโอกาสได้รับการศึกษา

สำหรับแนวคิดทางปรัชญาที่ตัวขงจื๊อ พัฒนาขึ้นเองนั้น คือเรื่องของ “มนุสสธรรม – 仁” เหฯนคำนี้ แต่ก่อนมักแปลเป็น เมตตาธรรม แต่ผมเห็นว่ามันอมความไม่หมด เหฯนมีเนื้อหากว้างกว่าเมตตามาก ดูจากตัวอักษรจีน ข้างซ้ายมือหมายถึงคนหรือมนุษย์ ข้างขวามือหมายถึงเลขสอง รวมความแล้วสื่อถึงคนหลาย ๆ คนอยู่ด้วยกัน คนหลาย ๆ คนอยู่ด้วยกัน ก็เป็นสังคมขึ้นมา และก็จำเป็นจะต้องมีหลักปฏิบัติ มีค่านิยม ที่ยึดถือร่วมกัน ไม่อย่างนั้นก็ตีกันตาย เหญินคำนี้จึงหมายนัยหนึ่งถึงหลักปฏิบัติสำหรับสมาชิกในสังคมมนุษย์ยึดถือร่วมกัน และอีกนัยหนึ่ง ความรักต่อกันและกัน หรือความรักต่อมวลมนุษยชาติ

ในทางระบบปรัชญาแล้ว สิ่งที่ขงจื๊อสร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยตัวท่าน ก็คือ คำสอนเกี่ยวกับ “เหญิน” เท่านั้นเอง

คำสอนอย่างอื่น ๆ เป็นเรื่องที่คนรุ่นหลังสร้างสรรค์เพิ่มเติมขึ้นภายหลังยุคท่านขงจื๊อ