วรรณคดีจีน
กวีพุทธ – หวางเหว่ย
鸟 鸣 涧
เหนี่ยวหมิงเจี้ยน
สกุณาร้องเหนือธาร
人 闲 桂 花 落 (เหญินเสียนกุ้ยฮัวลั่ว)
๐ คนไร้ - ไม้ดอกกุ้ย หล่นลา
夜 静 春 山 空 (เย่จิ้งชุนซานคง)
คืนสงัดวสันต์ภูผา เปล่าร้าง
月 出 惊 山 鸟 (เยวี่ยชูจิ้งซานเหนี่ยว)
จันทร์โผล่ส่องสกุณา ตระหนกตื่น
时 鸣 春 涧 中 (สือหมิงชุนเจียนจง)
แจ้วเจื่อยเสียงไปกว้าง หุบห้วยแห่งวสันต์ ๐
หวางเหว่ย กวีเอกยุคราชวงศ์ถัง
หวางเหว่ย 王 维 เป็นกวีที่มีท่วงทำนองของบทกวีเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง ถึงขนาดเรียกว่าเป็น “สกุลช่าง” สกุลหนึ่ง
เขาก็เขียนอะไร ๆที่มันดูเรียบ ๆ เหมือนบรรยายทิวทัศน์ อย่างเช่นบทนี้
วรรคที่หนึ่งบอกว่า - ในที่ซึ่งปราศจากผู้คน ดอกกุ้ยฮัวร่วงหล่นลง
วรรคที่สองบอกว่า – ที่นั้นคือบนภูดอยที่ว่างไร้ยามราตรีในฤดูใบไม้ผลิ
วรรคที่สามบอกว่า – ครั้นดวงจันทร์ออกมาฉายส่องบนฟ้า ทำให้นกตกใจ (นึกว่าสว่างแล้ว)
วรรคที่สี่บอกว่า - นกจึงพากันร้องระงมเสียงก้องลำธารยามฤดูใบไม้ผลิ
ท่านผู้อ่าน อ่านแล้วเห็นภาพสภาพแวดล้อมบนภูดอยในคืนที่เงียบสงัด ขณะนั้นเป็นฤดูใบไม้ผลิ อากาศอบอุ่นสบาย ทันใดนั้นพระจันทร์ก้เจิดกระจ่างขึ้นมาทันทีทันใด เหล่านกภูดอยพากันตื่นร้องเสียงเจื้อยแจ้วดังก้องไปตามลำห้วย
อย่างนี้เอง ที่ปราชญ์จีนเขายกย่องนักกวีที่เขียนบทกวีได้เยี่ยมยอด และจิตรกรที่วาดภาพได้เยี่ยมยอดว่า
“ ในกวีมีภาพ 诗 中 有 画
ในภาพมีกวี 画 中 有 诗”
บทกวีของหวางเหว่ยแทบทุกบท เป็นตัวอย่างความสำเร็จของนักกวีที่เขียนบทกวีได้ถึงขั้น “ในกวีมีภาพ” นี่เป็นความสำเร็จขั้นที่หนึ่ง
ยังมีความสำเร็จของกวีขั้นที่สองอีก
นั่นคือ “สื่อสร้างจินตนาการได้ไม่จำกัด”
คุณลักษณะของบทกวีที่ต่างจากคำประพันธ์ประเภทอื่น ๆ ก็คือ “บทกวีใช้คำจำกัด สื่อสร้างจินตนาการไม่จำกัด”
อ่านบทกวีบทนี้แล้ว ผู้อ่านร้อยคนก็มีจินตนาการได้มากกว่าร้อยอย่าง เพราะคนอ่านก็อาจจะมีจินตนาการได้มากกว่าหนึ่งอย่าง
หวางเหว่ยนับเป็นนักกวีที่ประสบความสำเร็จถึงขั้นที่สอง
ความสำเร็จขั้นที่สามของบมทกวี คือผู้อ่านบรรลุธรรม หรือตระหนักรู้ในเรื่องธรรมชาติของความเป็นมนุษย์
การตระหนักรู้ธรรมชาติของมนุษย์ มิใช่เรื่องของศาสนาพุทธนิกายเซนฝ่ายเดียว
ศาสนาอื่น ปรัชญาอื่น ๆ ก็อาจทำให้เข้าถึง ตระหนักรู้ธรรมชาติของมนุษย์ได้เช่นกัน
หวางเหว่ยนั้น นักประวัติศาสตร์มองว่า ท่านเป็น “กวีพุทธํ”
“กวีเต๋า” คือเถายวนหมิง
“กวีบู๊เฮี้ยบ” คือหลี่ไป๋
“กวีขงจื๊อ” คือ ตู้ฝู่
ในกวีบทข้างต้น สื่อคำสอน “เซน” ( ฌาน , หรือ ธฺยาน) ด้วย แม้จะตีความยากสำหรับผู้เริ่มศึกษา แต่สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับจริตแบบเซนแล้ว ซึมซับเข้าใจไม่ยาก
สองวรรคแรก สื่อถึงความเป็นหนึ่งเดียวของชีวิตเรากับธรรมชาติ ความสงัดวิเวกของสภาพแวดล้อมบนภูดอยยามใบไม้ผลิ ดอกไม้ร่วงหล่นอย่างเงียบ ๆ แต่เป็นฉากแสดงความเคลื่อนไหวในบรรยากาศที่สงบเงียบ อาจทำให้จิตใจเราตื่นรู้ เข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ในทันทีทันใดนั้น
เปรียบเหมือนพระจันทร์สาดส่องขึ้นอย่างฉับพลัน
ขอให้สังเกตนะครับ “หวางเหว่ย” ใช้คำว่า “พระจันทร์ออกมา”月 出 ถ้าใช้คำแค่เพียง “แสงจันทร์ 月 亮” บทกวีนี้จะจืดลงไปเยอะ คือไม่สื่อถึงการปรากฏขึ้นของพระจันทร์อย่างฉับพลันทันที
แสงสว่างของดวงเดือนทำให้นกตื่น !
นั่นคือการตระหนักรู้ บรรลุธรรมของจิตมนุษย์นั่นเอง