10 สิงหาคม 2553

วรรณคดีการเมือง (๑)

                                                  วรรณคดีการเมือง (1)


วรรณคดีการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของวรรณคดีเปรียบเทียบ

วรรณกรรมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม และน่าจะถือว่าเป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากด้วย

วัฒนธรรมนั้นมีชีวิต เพราะเกิดจากมนุษย์ ขึ้นอยู่กับมนุษย์ เป็นผลิตผลของมนุษย์ มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดตามความเปลี่ยนแปลงไปของสังคมมนุษย์ ความเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมจะส่งผลกระทบต่อวรรณกรรมทั้งรูปแบบและเนื้อหา ทำให้เกิดการแสดงออกผ่านวรรณกรรมทั้งโดยในรูปไม่จงใจส่งผลสะเทือนย้อนกลับไปเปลี่ยนวัฒนธรรม และโดยมีเจตนาที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมในส่วนนั้น ๆ ของสังคมของตนให้เป็นไปตามแบบที่ตนศรัทธา

ตันติวรรณกรรม (วรรณกรรมคลาสสิค) ของไทยส่วนใหญ่มีลักษณะไม่จงใจส่งผลสะเทือนไปเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม มีเพียงส่วนน้อยที่มีเจตนาสร้างผลสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรม ซ้ำร้ายยังต้อง “ซ่อนนัย” ทำให้น้อยคนจะเข้าใจวรรณกรรมลักษณะนี้

โดยทั่วไปเราเรียกวรรณกรรมที่ดีเลิศว่า “วรรณคดี” มีนัยว่าวรรณกรรมทุกเรื่องมิใช่จะคือวรรณคดีเสียทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม บทความชุดนี้จะใช้คำว่า “วรรณคดี” กับงานวรรณกรรมทุกชิ้นที่ผู้เขียนนำมาอ้างอิง เพราะวรรณกรรมที่ผู้เขียนยกมาเสนอ บางเรื่องแม้จะมิใช่วรรณคดีระดับที่วงการทั่วไปยกย่องว่าเป็นดีเยี่ยมอันดับที่หนึ่งก็ตาม แต่ผู้เขียนก็เห็นว่ามีคุณค่าในด้านการแต่งวรรณกรรมเพียงพอจะเรียกว่าวรรณคดีได้ทุกเรื่อง

การศึกษาวรรณคดีนั้น เราควรจะทำหลาย ๆ ด้าน อย่างที่เรียกว่า “วรรณคดีเปรียบเทียบ”

“โดยปกติ งานทางวรรณกรรมเรื่องหนึ่งอาจศึกษาได้หลายแนว ถ้าแยกอย่างกว้าง ๆ ก็จะมีสองแนว คือ ลักษณะทางการแต่งหรือสิ่งภายใน กับวัสดุทางข้อมูลกับความคิดหรือสิ่งภายนอก การศึกษาจากทัศนะของวรรณคดีเปรียบเทียบ ที่ผู้ศึกษาพบในบทความทางวิชาการส่วนใหญ่จะแสดงการค้นคว้าและวิเคราะห์ในแนวเดียว ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะศึกษางานชิ้นเดียวกันนี้ในแง่อื่นไม่ได้ แม้แต่จะเป็นการศึกษาแนวภายนอกด้วยกัน เช่น เรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคม อาจศึกษาไนแง่จิตวิทยาด้วยก็ได้ เช่นเดียวกับที่เราอาจศึกษาการแต่งกวีนิพนธ์บทหนึ่งในแนวภายในจากแง่ของจินตภาพ การสร้างประโยค และการใช้รูปแบบทางฉันทลักษณ์ เป็นค้น การที่มีผู้ศึกษาวรรณกรรมชิ้นหนึ่งจากแง่หนึ่ง จึงไม่ได้ตัดหนทางที่จะมีการศึกษาเรื่องเดียวกันในแง่อื่น และไม่ได้หมายความว่า เมื่อการศึกษาในแง่หนึ่งเป็นที่ยอมรับ การศึกษาในแง่อื่นอีกหลายแง่จะหมดความหมาย ตรงกันข้าม ผู้ที่สนใจวรรณกรรมเรื่องนั้นกลับได้ประโยชน์จากการรวบรวมผลของการศึกษาต่างแง่ในแนวเดียวกันมาพิจารณาเทียบเคียง ทำให้เห็นคุณค่าและความหมายของวรรณกรรมได้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้น” (“วรรณคดีเปรียบเทียบ” สุธา ศาสตรี มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง พ.ศ ๒๕๒๕ หน้า ๙-๑๐)

การศึกษาวรรณคดีไทยในแง่ “การเมือง” ยังมีผู้ศึกษากันน้อย บทความชุดนี้มุ่งหมายเพื่อช่วยเพิ่มเติมข้อมูล และทัศนะเท่าที่สติปัญญาของผู้เขียนจะทำได้

ผู้เขียนเห็นว่า ตำราเรียนของไทยส่วนใหญ่เน้นเสนอแต่ทัศนะความเข้าใจของผู้เขียน ไม่ค่อยเสนอหลักฐานชั้นต้นคือบทประพันธ์ในวรรณคดีเรื่องนั้น ๆ จะยกเอามาเป็นตัวอย่างก็เพียงน้อยนิด บทความชุดนี้จึงพยายามนำเสนอคำประพันธ์จากวรรณคดีที่กล่าวถึงนั้นให้มากสักหน่อย บางเรื่องที่เป็นชิ้นสั้น ๆ ก็จะคัดมาทั้งหมด เพื่อความสะดวกของผู้ศึกษาไม่ต้องไปพลิกหนังสือหาอ่านที่อื่น

วรรณคดีสังคม

ผู้เขียนใช้คำว่า “วรรณคดีสังคม” เพื่อเปรียบเทียบกับ “วรรณคดีการเมือง”

“วรรณคดีสังคม” ผู้เขียนตั้งใจหมายถึง วรรณคดีส่วนที่สื่อแสดง “แนวคิด” หรือ “กระแสอารมณ์ความรู้สึก” ในสังคม ซึ่งมีทั้งที่สื่อแบบปรุงแต่งซ่อนนัย และสื่อ สะท้อนภาพเป็นจริงแบบสัจจะนิยม แต่วรรณคดีระดับนี้ยังไม่ถึงกับวิพากย์วิจารณ์สังคมหรือสถาบันในสังคมขนาดที่จะจัดให้เป็นวรรณคดีการเมือง

ตัวอย่างวรรณคดีสังคมแบบสื่อปรุงแต่งซ่อนนัย ก็เช่น มุขปาฐะเรื่อง “เซี่ยงเมี่ยง” ของล้านช้าง ล้านนา . “ศรีธนญชัย” ของไทยกลาง , “ขะต้ำป๋าหรือกะต้ำป๋า” ของล้านนา , “จั่วน้อย” (เณรน้อย) ของ อีสาน

ตัวอย่างวรรณคดีสังคมที่สื่อแสดงภาพสังคมแบบสัจจะนิยม ก็มีบทร้อยกรองบางตอน ในวรรณคดีเรื่อง กาพย์ห่อโคลงพระศรีมโหสถ , ปุณโณวาทคำฉันท์ , บทร้องมหโหรีครั้งกรุงเก่าบางเพลง เป็นต้น

๑ . วรรณกรรมเสียดเย้ย

สำหรับนิทาน “เซี่ยงเมี่ยงค่ำพญา” “ขะต้ำป๋าค่ำตุ๊” และเรื่องจั่วน้อยนี้ ชื่อเรื่องได้บอกนัยไว้แล้วว่า เป็นเรื่องเสียดเย้ย ที่ชนชั้นล่าง (ไพร่) ในสังคมระบายความขับข้องหมองใจออกมาเป็นนิทานตลกขำขัน โดยใช้ชนชั้นสูง คือพญา (ชนชั้นปกครอง) และตุ๊เจ้า (พระภิกษุ ) เป็นตัวตลก ส่วนข้าพญาคือเซี่ยงเมี่ยง ขะต้ำป๋า - เด็กวัด (ขโยมวัด) และจั่วน้อย เป็นตัวเอกที่ฉลาดกว่าพญาและตุ๊เจ้า จนสามารถ “ค่ำ” (กลั่นแกล้ง)พญาและตุ๊เจ้าได้

ในสังคมเป็นจริง คนระดับล่างอย่างเซี่ยงเหมี้ยงและขะต้ำป๋า หรือศรีธนญชัย ไม่สามารถจะกลั่นแกล้งคนชั้นสูงได้ จะทำได้ก็เพียงในจินตนาการ โดยซ่อนนัยเอาไว้ในนิทานชวนหัวเท่านั้น

นิทานทำนองนี้ ยังมีปรากฏในสังคมชาวไทใหญ่ และกลุ่มเผ่าพันธุ์อื่น ๆ ในอุษาคเนย์เช่นกัน นิทานเรื่องทำนองนี้มีแพร่หลายในเปอร์เซียอีกด้วย

นิทานของชาวไทใหญ่นั้นเรียกกันว่า “ไอ่จอกขี้แหลน” แปลว่า ไอ้จอกขี้โกหก

นิทานเหล่านี้เป็นวรรณกรรมมุขปาฐะ เล่าด้วยภาษาพื้นเมืองจึงจะได้รสชาติ ถ้าแปลงเป็นเรื่องอ่านใช้สำนวนไทยภาคกลางเสียแล้วจะหมดสนุก

อย่างนิทานไอ่จอกขี้แหลนเรื่องหนึ่ง แปลเป็นไทยกลางว่า

ขุนหัวคำ (เจ้าเมือง)ถามไอ้จอกว่า “ไอ้จอก มึงหลอกกูลงน้ำได้มั้ย”

ไอ้จอกบอกว่า “ปัญหาข้า บ่ มีจะหลอกขุนหัวคำลงน้ำได้ แต่ข้ามีปัญญาหลอกขุนหัวคำขึ้นจากน้ำได้”

ขุนหัวคำได้ฟังก็โดดลงน้ำดังจ๋อม

ไอ้จอกได้แต่หัวร่อ ฮิ ๆ ๆ

เรื่องเซี่ยงเมี่ยงนี้ แพร่หลายทั้งในล้านนาและล้านช้าง แต่ในรายละเอียดก็มีแตกต่างกันบ้าง แม้เรื่องทางล้านช้าง(ลาวและไทอีสาน)เองก็มีแตกต่างสำนวนกันไปมาก

ต้นตอของเซี่ยงเมี่ยง ทางล้านนาเล่าว่า

“มียายแม่หม้ายคนหนึ่ง มีลูกสามคน ทีแรกนั้น ยายแม่หม้ายคนนี้จะข้ามน้ำไปอีกฝั่งหนึ่ง ทีนี้ก็ข้ามไม่ได้ มีพญาขี่เรือมา ขอข้ามพญา(ขอข้ามไปกับพญา) พญาก็ไม่ให้ข้าม พระพายเรือมาอีก ขอข้ามกับพระ พระก็ไม่ให้ข้าม ทีนี้ก็มีลัวะพายเรือมาอีก ขอข้ามกับลัวะ ลัวะก็ไม่ให้ข้าม

ก็เลยผูกเวรไว้ว่า ขอภาวนา(ผาถะนา) มีลูกสามคน

คนหนึ่งไปแกล้งพญา

คนหนึ่งไปแกล้งพระ

คนหนึ่งไปแกล้ง ลัวะ

ทีนี้ก็ พอดีก็..ยายแม่หม้ายคนนั้นเกิดมาอีกชาติหนึ่ง มาได้ผัวสิ มีลูกสามคนแหละ (ได้แต่งงานอยู่กินกับสามี จนมีลูกด้วยกันสามคน) ผัวตายทิ้ง เลยเป็นยายแม่หม้าย มีลูกสามคน คนหัวปี ไปแกล้งพญา (ลูกคนหัวปี ของนางแม่หม้าย ก็ได้ไปแกล้ง พญา ดังคำสาปแช่ง ที่นางแม่หม้ายได้อธิษฐานไว้ เมื่อชาติปางก่อน)

มัน…เที่ยวไปตามในบ้านในเมืองเนี่ย (ท่องเที่ยวไปวัน ๆ) เจอใครก็โกหก หลอกเล่นไปเรื่อย คนอื่นเห็น (คนอื่นๆ เห็นว่า)

“เออ…หมอนี่สมควรไปอยู่กับพญา มันพูดตลกขบขันดี”

พญาก็เอาอยู่ด้วยพญา บ้านเป็นทัพเมืองเป็นศึก พญาว่า(พญาจึงได้สั่งกับเซี่ยงเมี่ยงว่า)

“เซี่ยงเมี่ยง ให้มึงอยู่บ้านนะ”

มันก็อยู่ อยู่เฝ้าบ้าน ทีนี้ พญาไปทัพ ปล่อยมันเฝ้าบ้าน มันก็พยายามเล่นเมียพญา(เซี่ยงเมี่ยงเล่นชู้กับเมียพญา) เมียพญาก็เล่นคบชู้กับมัน จนไม่รู้จะทำยังไง

พญามารู้ว่ามันเล่น มันก็ว่ามันไม่ได้เล่น

“ผมไม่ได้เล่น ผมไม่ได้ทำจริงๆ”

“ก็มึงมีหลักฐานเหรอ”

“มีสิ .. ถ้าผมได้เสพได้สู่กับเมียพญา ดูผมนี่เถอะ”

เอาปลาร้าปลาสร้อยเข้าพอกหัวแหละ “ดูสิ”

กลิ่นสาบตลบอบอวน พญาก็เลยเชื่อมัน ว่าไม่ได้เล่นจริง” (จากเรื่อง “มรดกทางวรรณกรรมของอุษาคเนย์ เซียงเมี่ยง จอมกะล่อน” http://thaiarc.tu.ac.th)